อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ของ ASP มีพื้นฐานมาจากการที่ฟิทช์คาดว่า ASP จะสามารถรักษาเครือข่ายการดำเนินงาน เงินกองทุน และ สภาพคล่อง ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามการเพิ่มความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและความผันผวนของตลาดทุนที่พิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัท อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตได้ ในทางตรงกันข้าม อาจมีการปรับเพิ่มของอันดับเครดิตหาก ASP สามารถรักษาสถานะทางการเงินและการเติบโตของกำไร จากกลยุทธ์ที่เน้นการกระจายรายได้ โดยไม่ทำให้ระดับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นมาก
ผลการดำเนินงานของ ASP ในปี 2552 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากรายได้ที่สูงขึ้นในธุรกิจทุกประเภทเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของตลาดหุ้น ผลประกอบการใน 9 เดือนแรกของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 536 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไรจากเงินลงทุนและค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบจากการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เท่าที่ผ่านมายังมีเพียงเล็กน้อย และ ASP คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนักเมื่อมีการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในปี 2555
ลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 3.94 พันล้านบาทจาก 1.72 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้น เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของลูกหนี้ทั้งหมด ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากมีการลดทอนความเสี่ยงด้วยการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มและการบังคับขายหลักทรัพย์ ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้สงสัยจะสูญยังคงมีปริมาณที่ไม่สูง อยู่ที่ระดับ 1.4% ของลูกหนี้ทั้งหมด ความเสี่ยงด้านเครดิตและความเสี่ยงด้านการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านการตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการเพิ่มความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการดำเนินธุรกิจของ ASP ดังที่เห็นได้จากกลยุทธ์การขยายธุรกิจไปในประเภทตราสารอนุพันธ์
สภาพคล่องของ ASP อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์จำนวน 2.8 พันล้านบาท หรือ35% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 แต่เป็นการปรับตัวลดลงจาก 46% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ASP เริ่มมีการจัดหาเงินทุนโดยการกู้ยืมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 แม้ว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.14 เท่า แต่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการขยายธุรกิจในอนาคต เงินกองทุนของ ASP มีคุณภาพสูง และสัดส่วนของเงินกองทุน (NCR) ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553
ASP เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในด้านส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 โดยครอบครัวโสภณพนิช ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านขนาดสินทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ABN AMRO Asia ได้เข้าควบรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์แอสเซ็ทพลัส ในปี 2547 และเปลี่ยนชื่อเป็น ASP ปัจจุบัน BBL ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดโดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 8.5% แต่ธนาคารไม่ได้มีส่วนร่วมในด้านธุรกิจหรือการบริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่นๆได้แก่ ครอบครัวโสภณพนิช (15.1%) และผู้บริหารของ ASP (3.5%)
ติดต่อ
Primary Analyst
นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์
Director
+662 655 4763
บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Secondary analyst
Vincent Milton
Senior Director
+662 655 4759
กรุงเทพฯ
Committee Chairperson
Jonathan Lee
Senior Director
+886 2 8175 7601