นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเดินทางไปสร้างความเชื่อมั่นและชักจูงการลงทุนกับนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12 — 20 ธันวาคม 2553 ว่า นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปี 2553 ที่บริษัท ดาว เคมิคอล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อผลิตโพรพิลีนไกลคอล (PROPYLENE GLYCOL) ในประเทศไทย โดยจะลงทุนมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนการพบปะหารือระหว่างคณะ กับผู้บริหารระดับสูงของดาว เคมิคอล ได้หารือถึงการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตในประเทศไทยของดาว เคมิคอล ด้วย
ทั้งนี้ โรงงานผลิตโพรพิลีนไกลคอลแห่งใหม่ของ ดาว เคมิคอล จะมีกำลังการผลิต 150,000 ตันต่อปี ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง โดยจะเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โพรพิลีนไกลคอล เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อุตสาหกรรม ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย
ปัจจุบันดาว เคมิคอล มีโรงงานผลิตโพรพิลีนไกลคอล จำนวน 5 แห่งทั่วโลกได้แก่ เยอรมนี อเมริกาเหนือ ซึ่งมี 2 แห่ง และในบราซิล กับออสเตรเลีย ส่วนธุรกิจของดาว เคมิคอล ในประเทศไทย นับตั้งแต่ ปี 2510 มีการร่วมทุนกับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และลงทุนเอง รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 142,400 ล้านบาท
ส่วนการพบปะหารือกับบริษัท การ์เดียน อินดัสทรีส์ ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ของสหรัฐฯ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯ กำลังเดินหน้าโครงการที่เพิ่งจะลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่โรงงานในจังหวัดสระบุรี เพื่อปรับปรุงเตาหลอมแก้วใหม่ เพื่อประหยัดพลังงาน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการผลิตใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงเพิ่มสายการผลิตกระจกเงา และในอนาคต บริษัทยังมีแผนจะลงทุนผลิตกระจกกันความร้อนสำหรับอาคาร (Sun Guard) และกระจกสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ LCD และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะยังได้พบปะหารือกับ ผู้บริหารบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และฟอร์ด มอเตอร์ส ถึงการเติบโตและโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ซึ่งนายชัยวุฒิได้นำเสนอนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบีโอไอ และได้ชักชวนให้ทั้ง จีเอ็ม และฟอร์ด เข้ามาลงทุนในไทยภายใต้นโยบายดังกล่าว ซึ่งมีการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่การผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะที่ใช้พลังงานทดแทน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ของทั้งสองราย
คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาของจีเอ็ม ซึ่งถือเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งได้รับทราบเทคโนโลยีล่าสุดในการพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน ทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนของ จีเอ็ม และนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใกล้เคียงกับทิศทางของประเทศไทยในการใช้เชื้อเพลิงอี 85 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนในไทยในอนาคตด้วย
สำหรับบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ในประเทศไทย มีการลงทุน 4 โครงการในประเทศไทย มูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ เชฟโรเล็ต ซาฟิร่า เชฟโรเล็ต อ็อพตร้า เชฟโรเล็ต โคโรราโด รวมทั้งโครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลด้วย
ส่วนการพบปะหารือกับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ส จำกัด ได้รับฟังการพัฒนารถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ซึ่งปัจจุบัน ฟอร์ด มอเตอร์ส ภายใต้การลงทุนร่วมกับมาสด้า ในชื่อบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการลงทุนในประเทศไทยประมาณ 50,000 ล้านบาท อาทิ การผลิตรถปิกอัพ การผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ การประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Office) เพื่อดูแลด้านการตลาดของบริษัทในภูมิภาค และโครงการใหม่ คือ การประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซี่งเป็นรถยนต์แบบใหม่ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่ยังไม่เคยผลิตในประเทศไทยมาก่อน กำลังผลิต 200,000 คัน/ปี เงินลงทุน 20,130 ล้านบาท