สผ.เปิดตัวคู่มือ EIA โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

พฤหัส ๑๖ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๑๔:๑๓
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยนางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการ สผ. ได้ลงนามและประกาศใช้คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ คู่มือ EIA และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการเจาะสำรวจและโครงการผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม โดยเผยใช้เวลาพัฒนาคู่มือกว่า 2 ปี มั่นใจแนวปฏิบัติเทียบเท่ามาตรฐานสากล ปฏิบัติได้จริง ด้านบรรยากาศการประกาศใช้คู่มือ EIA คึกคัก ผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและที่ปรึกษา ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือฯ กว่า 20 ราย เข้ารับมอบคู่มือ ชี้คู่มือฯ จะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์และครบถ้วนของรายงาน EIA และจะช่วยให้กระบวนการจัดทำและพิจารณา EIA มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามและประกาศใช้คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมจัดทำกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้รับสัมปทาน และบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน รวมกว่า 21 องค์กร ซึ่งการจัดทำคู่มือฯ นี้ได้ดำเนินการภายใต้ “โครงการปรับปรุงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาปิโตรเลียม” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคู่มือฯ ที่มีความละเอียดในการกำหนดแนวทาง มีเนื้อหาตามหลักวิชาการ และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และได้มีการประกาศใช้คู่มือฯ EIA สำหรับโครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอย่างเป็นทางการ โดยนับเป็นความก้าวหน้าและแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

นางนิศากรระบุว่า คู่มือการทำรายงาน EIA ดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้มาตรฐานการทำรายงานมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในมิติทางสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ แล้ว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งส่วนที่จะต้องพิจารณาอนุมัติโครงการ และผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างความเข้าใจ ที่อยู่บนพื้นฐานของรายงานข้อมูล การวิเคราะห์ที่เป็นระบบ ครบถ้วนสมบูรณ์และมีคุณภาพ ซึ่งจากเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำในการ ยึดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง และทัศนคติในการทำเพื่อการพัฒนา จะทำให้ผู้ประกอบการ ได้ตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไว้ในรายงาน โดยไม่หวังแต่เพียงให้รายงานผ่านความเห็นชอบและใช้ประกอบในการขออนุญาตดำเนินโครงการเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าคู่มือที่จัดทำขึ้นตามแนวทางนี้ จะส่งผลดีต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

นายวิชัย ธารณเจษฎา ผู้แทนจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาปิโตรเลียมทั้งการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อ 3-4 ปีก่อน รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการจัดหาพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้พลังงานของประเทศ แต่ในการจัดทำรายงานก็มีข้อจำกัด เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ทำให้หลายโครงการที่จัดทำรายงานขึ้นขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องมีการแก้ไขหลายครั้ง และจากการที่รายงาน EIA ไม่สามารถเห็นชอบได้ตามกรอบระยะเวลาที่ผู้ประกอบการวางแผนไว้ ทำให้โครงการอนุมัติล่าช้า บางครั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัมปทานที่กำหนดไว้ ซึ่งจากนี้ไปเชื่อว่าคู่มือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง

“จุดเด่นของการพัฒนาคู่มือเล่มนี้คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทัศนคติมุมมองของทีมพัฒนาคู่มือฯ ที่ต้องการมุ่งที่จะลดผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเอาตัวรอดจากปัญหา” นายวิชัยกล่าว

สำหรับคู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นี้ได้จัดทำขึ้นจำนวน 300 ชุด โดยแต่ละชุดแบ่งเป็นโครงการบนบก และในทะเล อย่างละ 3 เล่ม ได้แก่

โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บนบก

- คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก

- คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตปิโตรเลียมบนบก

- คู่มือการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบก

โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในทะเล

- คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเล

- คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเล

- คู่มือการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โ

โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเล

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการ เห็นว่าการพัฒนาคู่มือการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม นี้มีประโยชน์มาก ซึ่งนอกจากจะช่วยในการปรับปรุงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วที่แต่ละองค์กรต้องทำแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการได้มีความเข้าใจหลักการและเหตุผลทางวิชาการ ความสำคัญของข้อมูลที่นำมาใช้ รวมถึงข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการพัฒนาคู่มือ ที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานราชการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ก็เป็นโอกาสในการที่จะทำให้แต่ละส่วนงานเข้าใจงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่มีส่วนร่วม โดยในฐานะของผู้ประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทำให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต จะมีการพิจารณาที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

ส่วนนายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและเป็นผู้อนุญาตการดำเนินงานทางด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวถึงประโยชน์ของคู่มือที่ได้มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมว่า เป็นที่น่าเสียดายที่รายงาน EIA หลายเล่มที่ส่งเพื่อขออนุมัติเข้ามาส่วนใหญ่จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเชื่อว่าภายใต้กรอบมาตรฐานในคู่มือที่มีการจัดทำอย่างละเอียด และยึดสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางจะช่วยทำให้แต่ละองค์กรสามารถพัฒนารายงานที่ครบถ้วนได้มากขึ้น ทำให้กระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานดำเนินการได้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของสัมปทาน ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนด ดังนั้นรายงานที่มีคุณภาพที่มีการกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างครอบคลุมและเหมาะสม ที่จัดทำขึ้นตามกรอบในคู่มือฯ ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการยอมรับในการดำเนินการและการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับคู่มือการทำรายงาน EIA ที่ได้มีการประกาศใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2553 นี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าคู่มือฯ มีประโยชน์ และต่างก็ยินดีที่จะนำคู่มือไปใช้ ซึ่งในวันประกาศใช้คู่มือมีบริษัทผู้รับสัมปทานและบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน กว่า 21 ราย ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือฯ เข้ารับมอบคู่มือ ประกอบไปด้วย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอเนอร์ยี่ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์โพรดักชั่น โคราช อิงค์, บริษัท อพิโก แอลแอลซี, บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด, บริษัท แพนโอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เทเท็กซ์ ไทยแลนด์ แอลแอลซี, บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โปร เอ็น เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท วิชั่น อีคอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นไวรอนเม็นทอล แมนเนจเม็นท์ จำกัด, บริษัท อีอาร์เอ็มสยาม จำกัด, บริษัท เตตร้า เทค อิงค์ จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟเทคโนโลยี จำกัด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ