ผู้แทน 160 หน่วยงานด้านสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัย ประจำปี 2554

อังคาร ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๑๓:๔๙
บุคลากรด้านสุขภาพ ผู้กำหนดนโยบาย อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนองค์กรต่างๆ กว่า 180 คน จาก 160 หน่วยงานทั่วประเทศ ร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัยด้านสุขภาพประจำปี 2554 ในการประชุมที่จัดโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับเครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบัน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program, HITAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายวิจัยคลินิกสหสถาบัน (Clinical Research Collaboration Network, CRCN) จัดการประชุมเพื่อลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัยด้านสุขภาพประจำปี 2554 ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัยด้านสุขภาพแล้ว HITAP และ CRCN จะนำหัวข้อวิจัยดังกล่าวไปดำเนินการให้เกิดการศึกษาวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศต่อไป

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัยเป็นกิจกรรมที่ได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 4 ปี ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้มาซึ่งหัวข้องานวิจัยที่ตรงกับความต้องการในระดับประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการวิจัย ช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปด้วยความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชนตลอดจนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยผลของงานวิจัยในหัวข้อที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการนี้ จะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชน และนำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้กำหนดนโยบาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา งานวิจัยที่ดำเนินการโดย HITAP และหน่วยงานอื่นๆ ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพ การปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ รวมไปถึงการพัฒนาระบบบริการ ซึ่งในที่สุดแล้วจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็น มีคุณภาพ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

กระบวนการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้องานวิจัยด้านสุขภาพ เริ่มจากการเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัย สมาคม สถาบันวิจัย กว่า 300 แห่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละหน่วยงานเล็งเห็นว่ามีความสำคัญ เข้ามายัง HITAP และ CRCN โดยในปีนี้มีหัวข้องานวิจัยที่ เสนอเข้าสู่การคัดเลือกทั้งสิ้น 27 หัวข้อ จาก 25 หน่วยงาน

หลังจากนั้น HITAP และ CRCN ได้นำหัวข้อเหล่านั้นไปทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นและให้คะแนนความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและคัดเลือกให้เหลือ 9 หัวข้อ ซึ่งนำเข้าสู่การประชุมในวันนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมในการระดมสมองและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในขั้นตอนสุดท้ายที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพ ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้แทนจากหน่วยงาน สถาบันวิจัย และภาคประชาสังคม จำนวนกว่า 180 คน จาก 160 หน่วยงานทั่วประเทศ

“หัวข้อวิจัยด้านสุขภาพที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญโดยบุคคลากรสาธารณสุขและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพจากหลากหลายหน่วยงานในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้ หัวข้อที่ได้รับคัดเลือก จะถูกนำไปพัฒนาเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ โดยจะดำเนินการด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐาน อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ และโปร่งใส โดยนักวิจัย HITAP และองค์กรในเครือข่ายของ CRCN ต่อไป” ดร.นพ.ยศกล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-590-4549 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ