รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา จัดการเสวนาครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการบริหารงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อทั้งการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยจากตัวเลขของเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่ร้องเรียนมีจำนวนไม่ถึง 1% (จำนวนประมาณ 0.478 เปอร์เซ็นต์/ 66,920 เรื่อง/ต่อปี )ข้อมูลได้จากหลายๆหน่วยงาน นำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย (จำนวนประมาณ 14,000,000 คน) นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเรื่องร้องเรียนของนักท่องเที่ยวที่มีเข้ามาส่วนใหญ่ จะเป็นในเรื่องของการซื้อแพคเกจทัวร์จากบริษัททัวร์ต่างๆที่แอบอ้างชื่อ การรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรื่องการเข้ามาเที่ยวแล้วไม่ได้รับการบริการตามที่บริษัททัวร์นั้นๆกล่าวอ้างหรือกล่าวโฆษณาไว้ เรื่องการหลอกลวงให้ซื้อเครื่องประดับประเภทเพชรพลอย หรือของมีค่าประเภทต่างๆ เรื่องแท็กซี่ป้ายดำ เรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญหลอกลวงนักท่องเที่ยวที่ยังคงมีการกระทำผิดอยู่ และเรื่องรถทัวร์สามศูนย์หรือรถตู้ที่วิ่งรับนักท่องเที่ยวโดยผิดกฏหมายและระหว่างทางอาจจะมีการปล้นจี้ รื้อกระเป๋าสัมภาระ หรือนำนักท่องเที่ยวไปปล่อยไว้ตามที่ต่างๆ โดยไม่นำไปส่งที่จุดหมายตามที่นักท่องเที่ยวซื้อหรือจ่ายเงินไว้ ซึ่งเรื่องร้องเรียนหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ความไว้ใจและทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มี่ต่อสายตามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วโลกอย่างแท้จริง เนื่องจากหากว่านักท่องเที่ยวได้ประสบพบเจอกับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่ประทับใจแล้ว ก็ยากนักที่จะทำให้พวกเขาหล่านั้นย้อนกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของเราได้อีก ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลั่งไหลไปท่องเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลงด้วย ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริหารงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านการท่องเที่ยวนั้น ทางกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวมีเป้าหมายที่จะมีบทบาทสำคัญ ในการให้การบริการและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหา และความเดือดร้อน แต่ตำรวจท่องเที่ยวมีข้อจำกัดในด้านอำนาจการสืบสวนสอบสวน กล่าวคือ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ แต่ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจึงต้องส่งเรื่องของการสืบสวนสอบสวนให้แก่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นผู้สอบสวนต่อไป บางครั้งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินทางกลับประเทศ ทำให้เรื่องที่ร้องเรียนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที บางเรื่องต้องดำเนินการส่งฟ้องในชั้นศาลจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงต้องมอบอำนาจให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นโจยก์ยื่นฟ้องเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิดแทน กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา จึงเกิดความล่าช้า ในส่วนของทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กล่าวถึงการขาดการประสานงานที่ดีระหว่างทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่มีการคาบเกี่ยวกันของหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เอง จึงทำให้เกิดความล่าช้า โดย เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหนึ่งๆยังไม่สามารถตอบคำถามได้ตามความต้องการของผู้ที่ใช้บริการไม่ว่าจะในส่วนของข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ ข้อมูลต่างๆ ตลอดจนการทวงถามถึงความคืบหน้าของเรื่องร้องเรียนที่ได้แจ้งเข้ามา
โดยนางธนิฏฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังหาแนวทางร่วมกันในการปรับปรุงพัฒนาการบริการเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับเป็นเจ้าภาพหลักในการระดมความคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริหารงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่มีต่อการท่องเที่ยวต้องดำเนินการเชิงรุก พร้อมทั้งฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยควบคู่กันไป ซึ่งการท่องเที่ยวถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยการดำเนินงานจะออกมาในรูปแบบของ One Stop Service สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ และเสนอให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Unit) ไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยทันที เพื่อลดปริมาณการเกิดปัญหาในระยะยาวและขยายวงกว้างต่อไป