สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (Thailand Seed Trade Association-THASTA) โดยนายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมฯ เผยระยะ 8 ปีที่ผ่านมา การค้าและอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารและความมั่นคงของประเทศ เมล็ดพันธุ์มีมูลค่าเศรษฐกิจทั้งตลาดในประเทศและส่งออกรวมประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท การส่งออกช่วง 10 เดือน มค.-ตค 53 มูลค่า 2,562 ล้านบาท คาดปี 54 ส่งออกเติบโต 15 % มูลค่า 3,100 ล้านบาท ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด กว่าครึ่ง คือ เมล็ดพันธุ์พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด รองลงมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผัก ชี้ศักยภาพไทยจะก้าวสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเซีย รัฐต้องสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แลแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรค
นายพาโชค พงษ์พานิช (Mr.Pacholk Pongpanich) นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า “ ขนาดพื้นที่การเกษตรของไทย ประมาณ 130 ล้านไร่ (ประมาณ 41% ของการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งหมด) โดยพื้นที่การเกษตรมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ แต่เนื่องจากเมล็ดพันธุ์สำหรบการเพาะปลูกมีมูลค่าที่สูงเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ใช้บริโภค อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ หรือ SEED เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เมล็ดพันธุ์ เป็นหน่วยชีวิตเล็กๆที่มีความสำคัญต่อชีวิตและเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารและเป็นความมั่นคงของประเทศที่หล่อเลี้ยงคนไทยและคนทั่วโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจทั้งตลาดในประเทศและส่งออกรวมประมาณปีละ 7,000 ล้าน เมล็ดพันธุ์มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรกรรมของไทย การค้าเมล็ดพันธ์ของตลาดโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ประเทศที่ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก คือ เนเธอร์แลนด์ (มูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.8) รองลงมา คือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมัน ชิลี และเดนมาร์ก เมื่อดูมูลค่าส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีกว่า 450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ1 ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยส่วนใหญ่เป็นพืชเขตร้อน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและเมล็ดพันธุ์ผัก เช่นมะเขือเทศ พริก และแตงกวาเป็นต้น ไทยจะต้องระวังคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน และหันมาสร้างแบรนด์มากขึ้น เนื่องจากไทยเสียเปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตและประสบปัญหาในเรื่องการลักลอบขโมยเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้ลูกค้าต่างประเทศขาดความมั่นใจที่จะว่าจ้างให้ไทยผลิตเมล็ดพันธุ์และหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นๆ
สำหรับมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2553 ประมาณ 2,562 ล้านบาท ลดลง 2.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะมูลค่าส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลดลงเนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วเขียวผิวมัน เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลดลง ประกอบกับมีข้อจำกัดในพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าในสิ้นปี 2553 ไทยจะส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชได้ 2,700 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนในแถบเอเชียทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย จึงคาดว่าหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและอินโดนีเซียจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชของไทยมากขึ้น
หากพิจารณาแยกประเภทเมล็ดพันธุ์ของไทยที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด ในปี 2552 คือกลุ่มของเมล็ดพันธุ์ผัก คิดเป็นร้อยละ 60.27 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด เมล็ดพันธุ์ผักที่สำคัญได้แก่ แตงโม แตงกวา มะเขือเทศ และพริก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม อินเดีย และญี่ปุ่น รองลงมาได้แก่กลุ่มเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ร้อยละ 39.73 โดยมี ข้าวโพดไร่ มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.71 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า “ศักยภาพในการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชของไทยและการเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเซีย ได้แก่ ความชำนาญของเกษตรกร ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพาะปลูก การชลประทาน สภาพภูมิอากาศ ความเหมาะสมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน และไทยยังเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และคมนาคม ในอนาคตอันใกล้กำลังจะมีระบบลอจิกติกส์คมนาคมขนส่งขนาดใหญ่การลงทุนเส้นทางระหว่างประเทศในแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออกจากทะเลจีนใต้ สู่ทะเลอันดามัน ในพม่า สำหรับมูลค่ารวมนั้นไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์มากเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย-แปซิฟิค, ไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เป็นอันดับ 6 ของโลก (ส่วนจีนเป็นอันดับที่ 43), ด้านเมล็ดพันธุ์ผักไทยส่งออกเป็นอันดับ 11 ของโลก (ส่วนจีนเป็นอันดับที่ 9), สำหรับเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ไทยส่งออกเป็นอันดับ 13 ของโลก (จีนเป็นอันดับที่ 6) การที่ไทยจะก้าวไปสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพได้นั้นภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันในการกำหนดทิศทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย และควรตระหนักอยู่เสมอว่าในช่วงเวลาที่เรากำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยอยู่นั้น ประเทศอื่นๆก็กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชด้วยเช่นกัน “
ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร (Mr.Chairerg Sagwansupyakorn) อุปนายกสมาคม กล่าวว่า “ แนวทางในการพัฒนาสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์ 1.การวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์เมล็ดพันธุ์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง การวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์เมล็ดพันธุ์เรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ทำการเกษตรเริ่มมีลดลง การส่งเสริมวิจัย และพัฒนาจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญและสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชไทยอย่างเนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาที่นาน และมีต้นทุนในด้านเทคโนโลยีที่สูงมาก 2.พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไทยควบคุมเพื่อการค้า ทั้งการส่งออก-นำเข้าเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านคุณภาพ และมาตรฐานให้ประเทศผู้นำเข้าได้ยอมรับ เช่น เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ดที่ได้ต้องปราศจากโรค 100% เป็นต้น 3.การพัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ควรหยุดนิ่งในการพัฒนาระบบขนส่งได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที หรือพัฒนาความรู้ และยกระดับความสามารถนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ จนถึงเกษตรกร และควรตระหนักเสมอว่าประเทศต่างๆที่เป็นคู่แข่งของไทยก็ได้พยายามพัฒนาและยกระดับตนเองขึ้นเพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้เช่นกัน 4.มีเครื่องหมายการค้าเป็นของตัวเอง ปัจจุบันที่บริษัทไทยหลายบริษัททำธุรกิจในลักษณะของการรับจ้างเมล็ดพันธุ์ให้กับต่างชาติ ทุกฝ่ายควรกระตุ้นให้คนไทยเกิดการตื่นตัวในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ตระหนักถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ของไทยเองมากกว่าการรับจ้างผลิตจากชาวต่างชาติ”
คุณสุวรรณี ประเทืองสิทธิ์ (Ms.Suvannee Prathuangsit) กรรมการบริหารสมาคม กล่าวถึง แผนการดำเนินงานของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ในปี2554 ว่า สมาคมฯ จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยให้เจริญก้าวหน้า เช่น เสนอกรมวิชาการเกษตร ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย, นำเสนอข้อคิดเห็นต่อภาครัฐในการหาแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับกฎระเบียบต่างๆที่ออกมาบังคับใช้ , การจัดอบรม-สัมมนาให้ความรู้ และสานต่อโครงการ “ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ” ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และสร้างความเชื่อมั่นในเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานจากร้านที่มีป้าย ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ปัจจุบันมีร้านค้าที่ได้รับป้ายฯ แล้วประมาณ 400 แห่ง
PR AGENCY : BRAINASIA COMMUNICATION
Tel. 02-911-3282 , Fax 02-911-3208
Email: [email protected]