SCB EIC ระบุว่าอัตราความเป็นเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างหยุดนิ่ง

จันทร์ ๑๐ มกราคม ๒๐๑๑ ๑๓:๔๔
SCB EIC ระบุว่าอัตราความเป็นเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างหยุดนิ่ง โดยการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองได้ย้ายไปสู่เมืองที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ มากขึ้นแล้ว

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า อัตราความเป็นเมือง (urbanization rate หรือจำนวนคนเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลต่อจำนวนประชากรทั้งหมด) ของไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 31% ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเชีย (53%) และมาเลเซีย (71%) แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองของไทยยังค่อนข้างหยุดนิ่งอีกด้วย โดยอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 0.8 percentage points (pp) ระหว่างปี 2545- 2552 เทียบกับการเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 และ 7 pp ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ

“สาเหตุที่ไทยมีอัตราความเป็นเมืองต่ำเนื่องจากมีคนจำนวนมหาศาลในกรุงเทพฯ แต่เมืองที่มีประชากรคนเมืองมากเป็นอันดับที่ 2 (สมุทรปราการ) มีประชากรคนเมืองเพียง 6% ของกรุงเทพฯ ในขณะที่เมืองอันดับสองของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีขนาดถึง 36% และ 49% ของเมืองอันดับที่ 1 ของประเทศดังกล่าว ตามลำดับ” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

“นอกจากนั้น จากข้อมูลล่าสุดดูเหมือนกรุงเทพฯ ได้หยุดโตลงแล้ว จำนวนประชากรคนเมืองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติบโตช้าลงมากในทศวรรษที่ผ่านมา และการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองได้ย้ายไปสู่เมืองที่อยู่นอกกรุงเทพฯ เมืองใน 10 จังหวัดแรกที่มีผู้บริโภคในเมืองมากที่สุดนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเติบโตต่อไป ในขณะที่จำนวนคนเมืองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นเพียง 5% ระหว่างปี 2543-2552 แต่จำนวนคนเมืองใน 10 จังหวัดแรกเพิ่มขึ้นถึง 18% ทั้งที่จำนวนคนเมืองทั้งสองแหล่งเติบโตด้วยอัตราเท่าๆ กันมาก่อนที่ประมาณ 18% ในทศวรรษก่อนหน้า” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (urbanization) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากคนเมืองในไทยมีรายได้มากกว่าคนนอกเมืองโดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า และยังจับจ่ายมากกว่าคนนอกเมืองที่มีรายได้ระดับเดียวกันอีกด้วย โดยคนเมืองที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าคนกลุ่มรายได้เดียวกันที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองถึง 2 เท่า นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มที่จะครอบครอง เครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ และคอมพิวเตอร์ มากกว่าประมาณ 50% อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้บริโภคในเมือง (urban consumer class) ยังมีไม่มากนัก โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้นเรื่อยๆ

“เรานิยามให้ผู้บริโภคในเมืองคือผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และมีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ถึง 4 ล้านคน ส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี มีการศึกษาดี และประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง โดย 45% ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในระหว่างปี 2545-2552 ประมาณ 75% ของการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในเมืองเกิดขึ้นนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และแนวโน้มนี้น่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

“อย่างไรก็ตามผู้บริโภคในเมืองอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วสารทิศ จากจำนวนผู้บริโภคในเมืองนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.7 ล้านคน มีเพียงประมาณ 7 แสนคนที่อยู่ใน 10 จังหวัดแรกที่มีผู้บริโภคในเมืองมากที่สุด และมีเพียง 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 20 จังหวัดแรก” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

พื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ดังเห็นได้จากสัดส่วนยอดขายตามจำนวนหน่วยสินค้านอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในกลุ่มสินค้าราคาสูงได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในระหว่างปี 2545-2552 สัดส่วนจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขายนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขี้นจาก 33% เป็น 42% นอกจากนั้น ยอดขายรถกระบะยังเพิ่มจาก 58% เป็น 62% อีกด้วย

ประเด็นเหล่านี้มีผลกระทบที่สำคัญต่อทั้งนโยบายและธุรกิจ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพื่อที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้โดยการ “แก้ไข” กรุงเทพฯ และการสร้างเมืองให้มีมากขึ้น เมืองที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ควรที่จะพัฒนาโดยมุ่งเรื่องจุดเด่นเฉพาะด้าน มากกว่าขนาด ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีความยากลำบากมากขึ้น การเติบโตของกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง เหมือนจะเป็นการเสนอกลยุทธ์ให้หันไปให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น แต่คงไม่ง่ายนัก เพราะในขณะที่ผู้บริโภคในเมืองจำนวนมากอาศัยอยู่ในเขตนอกกรุงเทพฯ แต่ก็อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วไปหมด

“ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาเมืองนอกเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีขนาดใหญ่มากเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายอุตสาหกรรม (industrial cluster) และอาจจะไม่จำเป็นต้องมีบริษัทจำนวนมากในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และรัฐบาลท้องถิ่น” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “Looking beyond Bangkok: ผู้บริโภคในเมืองและการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในไทย" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 Email: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version