นายคำรณ ชูเดชา ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา พร้อมด้วย เด็กและเยาวชน นิสิตนักศึกษาและภาคีครอบครัว กว่า ๔๐ คน เข้าพบ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อยื่นข้อเสนอ “ของขวัญที่หนูอยากได้” จากผู้ใหญ่และสังคม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๔
นายคำรณ ชูเดชา ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ สำรวจ เรื่อง“ทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัว”ในกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา อายุระหว่าง ๙-๑๕ ปี จำนวน ๑,๙๕๑ คน ทั้งหมด ๖๗ โรงเรียน ระหว่างวันที่ ๒๘ ธ.ค.๕๓ — ๔ ม.ค.๕๔ พบว่า เสียงสะท้อนจากเยาวชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นผู้ปกครองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเยาวชนเกินครึ่ง หรือ ๗๒ % เคยพบเห็นคนในครอบครัวดื่มเหล้า และเยาวชนเกือบครึ่งหนึ่งหรือ ๔๗.๖% เคยถูกใช้ไปซื้อเหล้าให้ผู้ปกครองทั้งที่ผิดกฎหมาย ส่วนกิจกรรมสังสรรค์ที่ครอบครัวมีการดื่มเหล้ามากที่สุดคือ ฉลองปีใหม่ ๔๑% เลี้ยงวันเกิด ๒๖.๕% เที่ยวตามโอกาสพิเศษร่วมกัน ๑๕% และวันสงกรานต์ ๑๒.๕% ตามลำดับ สำหรับสถานที่ที่เด็กพบเห็นว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๕๑% บอกว่าพบในตู้เย็นที่บ้าน รองลงมา ๓๐% พบในสวนสาธารณะของหมู่บ้าน และ๑๐% พบในรถของพ่อ เมื่อถามว่า กิจกรรมสังสรรค์ที่ครอบครัวทำร่วมกัน ต้องการให้มีการดื่มเหล้าหรือไม่ เด็กมากกว่า ๙๕% ไม่ต้องการ นอกจากนี้เด็กส่วนใหญ่กว่า ๙๖.๘% ไม่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวดื่มเหล้า
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่เด็กและเยาวชนเสนอ ทั้งหมด ๓ ข้อ ได้แก่ ๑.อยากให้พ่อเลิกเหล้า เนื่องจากเหล้าเป็นสาเหตุและเป็นตัวบั่นทอนความสุขของคนในครอบครัว ๒.อยากมีกิจกรรมปลอดเหล้าในครอบครัว เช่น การหาเวลาไปเที่ยวด้วยกัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน และ ๓.อยากมีพื้นที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปลอดเหล้า ซึ่งทั้ง ๓ ประเด็นนี้ แสดงถึงการตื่นตัวของเยาวชนในเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเหล้าเป็นภัยใกล้ตัวเด็กอย่างมาก ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดื่มเหล้าและครองสติไม่ได้ จะทำให้เด็กจดจำและเลียนแบบ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว การให้เวลาและการเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ ที่เด็กๆ ต้องการมากกว่าสิ่งอื่น และไม่ควรลี้ยงลูกด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ครอบครัวควรมีความอบอุ่น มีเวลา ให้ความรัก มีการสร้างกิจกรรมที่เป็นแบบอย่าง ก็จะเป็นกำแพงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า หน้าที่สำคัญที่สุดในวัยเรียน คือ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ที่สำคัญที่สุดคือ ให้ห่างไกลจากอบายมุข โดยเฉพาะยาเสพติดและการพนัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม โดยข้อเสนอในวันนี้ พม.จะรับไว้เป็นแนวทางปฏิบัติและดำเนินการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานอื่นต่อไป.