นายเสรีรัตน์ เปิดเผยว่า ทอท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าอากาศยานในความรับผิดชอบตลอดมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนประตูของการสัญจรทางอากาศสู่ภาคเหนือได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาระบบจ่ายน้ำมันอากาศยานทางท่อที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่นี้นอกเหนือจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสายการบินแล้ว ยังช่วยลดไอระเหยจากการเติมน้ำมันโดยรถเติมน้ำมัน ส่งผลดีต่อสภาวะแวดล้อม และสอดคล้องกับเป้าหมายในการลดมลพิษทางอากาศของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่ได้จัดทำโครงการท่าอากาศยานสีเขียว (Green Airport) เพื่อเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานของ Airport Council International (ACI) ภายใต้ชื่อโครงการ Airport Service Quality Program (ASQ) ของท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 5 ล้านคน โดยมีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโครงการภายในปี 2555 และติดอันดับ 1 ใน 5 ภายในปี 2557ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
ดร.ปรัชญา เปิดเผยว่า ปตท. ได้ร่วมกับ ทอท.ในการก่อสร้างระบบท่อและจุดจ่ายน้ำมันบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมทั้งปรับปรุงระบบรับ-เก็บ-จ่ายน้ำมันในส่วนของสถานีเติมน้ำมันอากาศยานเดิม ให้เป็นระบบอัตโนมัติรองรับการให้บริการด้วยระบบการจ่ายน้ำมันอากาศยานทางท่อ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการเติมน้ำมัน ทำให้สามารถให้บริการน้ำมันอากาศยานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมจะต้องใช้รถบรรทุกน้ำมัน ซึ่งรับน้ำมันได้เที่ยวละ 12,000 - 25,000 ลิตร แล่นไป-กลับระหว่างคลัง ปตท. กับหลุมจอดเครื่องบิน ซึ่งจะต้องใช้รถถึง 10 เที่ยวต่อปริมาณความต้องการน้ำมัน ประมาณ 250,000 ลิตร แต่ระบบการจ่ายน้ำมันทางท่อสามารถจ่ายน้ำมันได้ถึง 300,000 ลิตรต่อชั่วโมง จึงรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยลดมลภาวะจากการขนส่งด้วยรถเติมน้ำมัน ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ได้อีกด้วย
ในด้านผลิตภัณฑ์ ปตท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และได้ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลที่ได้รับการยอมรับจากสายการบินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีกระบวนการควบคุมการปฏิบัติการรับ-เก็บ-จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นไปตามมาตรฐาน JIG Guideline (Joint Inspection Group) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและปฏิบัติงานตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ให้เป็นประตูที่จะเชื่อมต่อไปสู่ทุกประเทศทั่วโลกต่อไป