นางสาวพิมพ์ผกา นิจการุณ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร Asia Money นิตยสารการเงินชั้นนำซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงตลาดทุนในระดับภูมิภาคว่า สภาพคล่องทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และความคาดหวังในเชิงบวกต่อการไหลเข้าของกระแสเงินสดในอนาคต จะผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยเข้าลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศในปี 2554 และจะเป็นปีที่ดีสำหรับตลาดหุ้นอีกด้วย
นางสาวพิมพ์ผกา นิจการุณ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโบรคเกอร์ที่ดีที่สุดในประเทศจากการสำรวจโดยนิตยสารเอเชียมันนี่ กล่าวว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินสดจำนวนมากของไทยหลายบริษัทเป็นไปได้ที่จะลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปี 2554 นี้”
“บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังคงเฝ้ามองหาโอกาสที่จะลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสภาพคล่องสูง และมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาจำนวนมาก และยังไม่รู้ว่าจะนำเงินเหล่านี้ไปทำอะไรในประเทศ”
พิมพ์ผกา คาดว่า กลุ่ม PTT บริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และ กลุ่ม SCG - กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด (Conglomerate) ของประเทศไทย กำลังมองหาโอกาสที่จะลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ
ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา (2553) บริษัทไทยหลายแห่งค่อนข้างกระตือรือร้นในการลงทุนซื้อกิจการ โดยมีดีลใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายดีลด้วยกัน เช่น บมจ.บ้านปู เข้าซื้อกิจการ Centennial Coal ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ บมจ. ไทยยูเนียนโฟรโซ่นโปรดักส์ เข้าซื้อกิจการ MW Brands ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลสัญชาติยุโรป ในราคา 680 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท รวมถึง บมจ.ปตท.สผ. เข้าซื้อหุ้น 40% ในแหล่งปิโตรเลียม Oil sands แคนาดา จาก Statoil ASA
พิมพ์ผกา เชื่อว่าประเทศในอาเชียนจะเป็นเป้าหมายแรกที่บริษัทไทยให้ความสนใจลงทุนซื้อกิจการ เนื่องจากความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นที่มีอยู่ในปัจจุบันของธุรกิจไทย แต่อย่างไรก็ดี จากดีลต่างๆที่เกิดขึ้นในปี 2553 ชี้ให้เห็นว่าบริษัทไทยยังได้เตรียมพร้อมที่จะลงทุนในกิจการต่างประเทศที่นอกเหนือไปจากการลงทุนในประเทศในเพื่อนบ้านอีกด้วย
บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยมองว่าตลาดไทยน่าจะยังคงปรับตัวดีต่อเนื่อง นายสุวรรณ ชำนาญกิจวานิช หัวหน้าฝ่ายการตลาดลูกค้าสถาบันต่างประเทศ กล่าวว่า “ปี 2553 เป็นปีที่ตลาดไทยสิ้นสุดการเป็นตลาดที่ปรับตัวช้ากว่าตลาดอื่นในภูมิภาค (underperforming) มานาน เนื่องจากปัญหาทางการเมือง และความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล”
“ถ้ามองย้อนหลังกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาดอื่นๆในภูมิภาคอย่างมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะแต่หุ้นชั้นดี (blue chips) เท่านั้น เนื่องจากพวกเขาต้องการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน”
สุวรรณ ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ในประเทศได้คลี่คลายและพัฒนาในทางที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม และสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น “ปี 2553 นับเป็นปีแรกที่ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นดี และเราก็ได้เห็นนักลุงทุนหันมาให้ความสนใจกับหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น”
พิมพ์ผกา กล่าวเสริมว่า “เรามีมุมมองที่เป็นบวกตั้งแต่ปีที่ 2552 และปี 2553 ที่ผ่านมา เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ตลาดไทยมีลักษณะซื้อและถือลงทุนระยะยาว มากกว่าที่จะมีลักษณะเป็น Trading market เหมือนในปี 2548-2551”
“ปัจจัยง่ายๆ ที่ผลักดันตลาดก็คือ การที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นไปอีกขั้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น” พิมพ์ผกา กล่าว