รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดการศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต วิชาเอกการบริหารการปกครองท้องที่ให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เพื่อให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และเป็นการเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ที่ได้รับในลักษณะของสหวิทยาการ เพราะถ้าหากบุคคลเหล่านี้มีทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างประชาธิปไตยให้กับคนในชุมชน หลักสูตรดังกล่าวถือเป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งทางด้านกฎหมายและการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
รศ.ดร. วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการดังกล่าว จากผลการสำรวจเมื่อปี 2545 พบว่า ข้าราชการในกลุ่ม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกือบ 2 แสนคน ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ทำให้กระทรวงกระตระหนักและเห็นความสำคัญเรื่องดังกล่าว จึงเกิดแรงผลักดัน และอยากส่งเสริมให้ทรัพยากรบุคคลกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เนื่องจากเห็นว่าประเทศชาติกำลังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีค่านิยมที่ดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งมติดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 50
พลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ ผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มโครงการฯ นี้กล่าวว่า จากการได้สัมผัสกับหน่วยงานการปกครองในท้องที่ ทำให้เห็นถึงปัญหาของบุคลากรในหน่วยงานราชการระดับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ยังขาดการศึกษาตามมาตรฐานที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ จึงต้องให้การศึกษาแก่บุคคลเหล่านั้น โดยเริ่มต้นจากผู้ปกครองท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกระจายความรู้ไปสู่ชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าจำนวนบัณฑิตรุ่นที่ 1 ที่จบการศึกษาจะมีจำนวนน้อย แต่เชื่อว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆเหล่านั้นจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้
จัดโครงการจัดการศึกษา หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต วิชาเอก การบริหารการปกครองท้องที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรจำนวน 3,000 คน จำแนกเป็นนักศึกษาหลักสูตร 4 ปี จำนวน 2,866 คน นักศึกษาหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี จำนวน 134 คน โดยกรมการปกครองได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 80 (เป็นเงิน 5,400 บาท/คน) และนักศึกษาสบทบค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 20 (เป็นเงิน 1,350 บาท/คน) ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาหลักสูตร 4 ปี กำลังศึกษาในปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 2 และจะสำเร็จการศึกษาประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 สำหรับในปีการศึกษา 2552 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี จำนวน 74 คน คิดเป็นร้อยละ 84.09 ของนักศึกษาที่เข้าศึกษา