โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ : จำเป็นและปลอดภัยจริงหรือ

พุธ ๑๙ มกราคม ๒๐๑๑ ๐๙:๓๗
โดย

ชวลิต พิชาลัย

รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

"ไม่ต้องอาศัยพลังงานนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าหรอก...อันตราย หากสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาก็แย่กันพอดี"

"แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ดีไปอย่าง เพราะทรัพยากรธรรมชาติบ้านเราเหลือน้อยลงทุกที ถ้าได้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ค่าไฟอาจจะถูกลง ไม่ต้องจ่ายแพงเหมือนตอนนี้"

บทสนทนาว่าด้วย "สร้าง-ไม่สร้าง" โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยดังขึ้นมานานแล้ว ถึงตอนนี้บทสรุปยังไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะหันหลังให้โครงการที่เข้าขั้น "เมกะโปรเจคต์" นี้หรือไม่ หรือจะมุ่งหน้าเดินไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากเป็นอีก "ทางเลือก" หนึ่งของการจัดหาพลังงานของประเทศ

1. โลกกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)ได้ระบุว่า กว่า 50 ปี ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและบริการต่างๆ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน เริ่มตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Obninsk ของสหภาพโซเวียต ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงแรกของโลก จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงที่ 2 ของโลกถูกสร้างขึ้นที่เมือง Calder Hall ในประเทศอังกฤษ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2499 และในปี พ.ศ. 2500 สหรัฐอเมริกาก็จ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงแรกที่เมือง Shipping port รัฐเพนซิลวาเนีย และในปี พ.ศ. 2502 ฝรั่งเศสก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ปัจจุบันทั่วโลกใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 371,989 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั่วโลก ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 436 โรง กระจายอยู่ใน 30 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้น 8 โรงทุกปี ปัจจุบันยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง 45 โรง ใน 13 ประเทศ อยู่ในแผนการก่อสร้าง 94 โรง และอยู่ในข้อเสนอขอก่อสร้างอีก 222 โรง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีความผันผวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีการเผาไหม้หรือสันดาปภายใน ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจึงไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) และไนตรัสออกไซด์(N2O) ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน

2. ประเทศไทยกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ประเทศไทยมีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เริ่มจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการและเลือกสถานที่ตั้งในปี 2510 ต่อมารัฐบาลได้เห็นชอบโครงการ และกำหนดใช้ปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (BWR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในปี 2513 ที่อำเภออ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้น กฟผ. ได้เสนอขออนุมัติเพื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในปี พ.ศ. 2519 แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเด็นที่สาธารณะชนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีและเรื่องการกำจัดกากของนิวเคลียร์ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ อย่างไรก็ดีจากการค้นพบแหล่งลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่จังหวัดลำปางและต่อมาได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปโดยไม่มีกำหนด และหันไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนลิกไนต์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้เกิดขึ้นจึงหยุดไป

ต่อมาได้มีแนวคิดเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจและศึกษาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และได้สถานที่ตั้งที่เหมาะสม จำนวน 5 แห่ง แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายที่แน่ชัดโครงการจึงไม่ได้ดำเนินการต่อ จนกระทั่งถึงปี 2550 รัฐบาลจึงตระหนักถึงปัญหาการผลิตไฟฟ้า ปัญหาคือ ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 1.03 ล้านล้านบาทต่อปี และต้องพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ราคาเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นมากตามราคาน้ำมัน รวมทั้งกับปัญหาภาวะโลกร้อน จึงทำให้เกิดความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในปี 2563 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และอีก 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564 รวมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาความเป็นไปได้ การคัดเลือกพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง การกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมด้านบุคคลากร และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการสร้างการยอมรับของประชาชนต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่ในต้นปี 2554

จุดแข็งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นอกเหนือจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังมีต้นทุนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ในปี 2563 ราคาต้นทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 2.79 บาทต่อหน่วย แม้ว่าค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินถึงประมาณ 2 เท่า แต่เนื่องจากเชื้อเพลิงยูเรเนียมมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาก ตัวอย่างเช่น ถ่านหิน 1 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ 3 หน่วย ขณะที่ ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 แสนหน่วย ซึ่งหมายถึง ประสิทธิภาพด้านเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1 แสนเท่า นั้นเอง

แต่ในด้านจุดอ่อนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เราก็ต้องดูให้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ในการกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานของ IAEA ที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safety) ความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Security) และการพิทักษ์ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safeguards) ซึ่งความรับผิดชอบโดยตรงเป็นของผู้ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตั้งอยู่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งหน่วยงานที่สมควรทำหน้าที่นี้ของไทย คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยการดำเนินการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ในการเดินเครื่องปกติหรือในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ส่วนวัสดุนิวเคลียร์นอกจากกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติคือ IAEA มาควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่นำเอาวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ในการทำอาวุธนิวเคลียร์

กับคำถามที่ว่า ผู้คนยังเป็นห่วงกังวลเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความคล้ายคลึงกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพร้ายแรง กระทรวงพลังงานจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่าจริงๆ แล้วสมรรถนะหรือความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีหรือยูเรเนียม 235 มีเพียงแค่ 3-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ความเข้มข้นของการทำระเบิดต้องมีมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะฉะนั้นความเข้มข้นไม่สูงเหมือนทำระเบิด นอกจากนี้ต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่า นโยบายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทยไม่ส่งเสริมการเสริมสมรรถนะ (Enrichment) และการนำเชื้อเพลิงใช้แล้วมาสกัดซ้ำ (Reprocessing) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าเท่านั้นมิใช่การทำระเบิด

สิ่งที่คนกลัวประการถัดมา คือเรื่องความปลอดภัย จะเกิดเหตุระเบิดเหมือนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่สหภาพโซเวียตในปี 2529 ไหม? จะเป็นมะเร็งหรือไม่ ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ต้องดูเรื่องของการออกแบบและเทคโนโลยี ปัจจุบันมีระบบการก่อสร้างอยู่ในรุ่นที่ 3 ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับแรก มีระบบป้องกันหลายขั้นตอน โดยเฉพาะตัวเตาปฏิกรณ์ มีเหล็กหล้าหนาถึง 6 มิลลิเมตร คลุม 1 ชั้น และมีปูนซิเมนต์ชนิดพิเศษหนาถึง 2 เมตร ครอบอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลสู่ภายนอก ทำอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ มีระบบควบคุมการ ขนส่งเชื้อเพลิงที่เคร่งครัด นอกจากนี้ ในเรื่องของการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเมื่อเดินเครื่องครบ 18 เดือน เวลาเปลี่ยนจะนำเชื้อเพลิงใช้แล้วประมาณหนึ่งในสามไปแช่น้ำที่อยู่ภายในตัวอาคารโรงไฟฟ้า พอแช่น้ำไปแล้วประมาณ 3-5 ปี เพื่อลดระดับรังสีให้อยู่ในระดับปกติแล้ว นำขึ้นจากน้ำมาทำให้แห้งแล้วค่อยนำไปเก็บที่อาคารซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า หรือเก็บไว้ใต้ดินในระดับความลึกตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีนโยบายที่จะแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากมีเป้าประสงค์ในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในทางสันติเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ สำหรับการเก็บและการกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของประชาชน ก็มีขบวนการดำเนินการตามมาตรการของ IAEA อย่างรอบคอบและเคร่งครัดเพื่อให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยกับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

สำหรับการปลดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Decommissioning) เป็นการเลิกใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เปรอะเปื้อนรังสี และการขนย้ายเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ นำไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากคำแนะนำของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามหลักสากล การจัดการปลดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มี 3 วิธี ดังนี้

1. รื้อถอนทันที (Immediate Dismantling)

2. ชะลอการรื้อถอน เป็นเวลา นาน 40-60 ปี (Safe store)

3. ไม่รื้อถอนเลย (Entombment)

สรุป

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นพลังงานเลือกใหม่ที่สำคัญในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากทรัพยากรพลังงานซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จะเริ่มหายากและไม่เพียงพอ ประกอบกับประเทศต้องหาหนทางในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งเพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าอย่างมั่นคงด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าถูก ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยรวม และประการสำคัญความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในปัจจุบัน ก็มีความปลอดภัยเพียงพอและอยู่ในระดับที่เชื่อมั่นและไว้วางใจได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรปิดกั้นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศด้วยพลังงานนิวเคลียร์ โดยจะต้องทำการศึกษาและเตรียมการอย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยสมควรดำเนินการก่อสร้างในอนาคตหรือไม่ โดยหากประชาชนไทยตัดสินใจให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะ กฟผ. จะต้องรับผิดชอบร่วมกันที่จะดำเนินโครงการนี้ด้วยความมั่นคงและปลอดภัยเพียงพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ แก่ลูกหลานของเราในอนาคต

ที่มา: สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (2550)

บริษัท ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทร. 02-967-1740-2

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version