งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ครูอาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม ได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะทางวิชาการด้วยการฟังบรรยาย และประชุมปฏิบัติการ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ในการพัฒนางานและพัฒนาตนเอง
นับว่าเป็นเวทีใหญ่ ให้ครู ได้มาร่วมกันเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้เข้าลงทะเบียนเรียน ได้ตามใจชอบ เพื่อ “ชาร์ตแบต” เติมไฟในการสอนกันอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้
นำความรู้และเทคนิคที่ได้ กลับไปสอนต่อได้อย่างอุ่นใจ และมั่นใจมากขึ้นภายในงานมีกิจกรรมการบรรยาย และเสวนาทางวิชาการจากนักวิชาการชั้นนำ ที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ เช่น บรรยายพิเศษ เรื่อง เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อการปฏิบัติ , TV is Eating Children’s Brain , การประเมินผลวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นานาชาติในโรงเรียน, มาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของไทย
เสวนาวิชาการ เรื่อง พัฒนาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้ร่วมเสวนา เป็นนักการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศไทย เสวนาวิชาการ เรื่องครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์มืออาชีพ จัดการเรียนการสอนอย่างไรในทศวรรษที่ 21
บรรยายวิชาการ เรื่อง สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้สนุก เทคนิคการสอนเคมีให้สนุก การส่งเสริมเรียนรู้สาระการออกแบบและเทคโนโลยีด้วยกิจกรรมรูปแบบโครงงาน วิทยาศาสตร์ใกล้ตัว ใช้คำถามอย่างไรให้เด็กคิด : รูปแบบคำถามและเทคนิค การกระตุ้นการเรียนโดยการแข่งขัน ฯลฯ
นอกจากนั้นกิจกรรมเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ กิจกรรมปฏิบัติการทางวิชาการ (Workshop) คลีนิกวิชาการจากครูผู้มากด้วยประสบการณ์ที่จะมาช่วยเสนอแนะแนวทางพัฒนาการสอน และการทำงานวิจัยต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดตั้งใจเตรียมนำเสนออย่างเต็มที่ แถมยังมีของแจกแถม ติดไม้ติดมือให้ครูนำไปใช้ต่อที่โรงเรียนได้ด้วย จากการที่ได้พูดคุยกับคุณครูหลายคนเล่าว่า เมื่อได้เดินเข้าไปในนิทรรศการแล้วเหมือนมีมนต์สะกดให้อยู่ในนั้นนาน ๆ เพราะมี สิ่งที่น่าสนใจให้เรียนรู้เต็มไปหมด
โดยงานนี้ สสวท. ยกขบวนนักวิชาการและทีมงานคณะต่าง ๆ มาร่วมจัดงานแทบจะหมดสถาบันเลยทีเดียว ซึ่งนับว่ากิจกรรมต่าง ๆ จัดขึ้น ล้วนแต่เปิดโอกาสให้คุณครูได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ ตามแต่ความสนใจและสายการปฏิบัติงาน ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งนั้น
คุณครูนิกร สีกวนชา โรงเรียนหนองโพธิ์ประชานุกูล อ.พระยืน จ.ขอนแก่น เดินทางจากอีสาน ไปเข้าร่วมนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ และรับฟังการนำเสนอผลงานทั้งแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ ร่วมเสวนาประชุมครูโครงการ สควค. ถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากเพื่อนครู เล่าว่า สิ่งที่ประทับใจการจัดงานครั้งนี้คือการได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมาก ได้พบปะเพื่อนครู ได้สร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ ประโยชน์ที่ได้คือได้ประสบการณ์ มุมมอง และแนวทางใหม่ๆหลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ในการวิจัยเป็นอย่างดี
คุณครูเกษม คงช่วย โรงเรียนโสตศึกษา จ.นครศรีธรรมราช บอกว่ามาร่วมงาน วทร. 20 นี้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับแนวคิดในการทำวิจัย และจะกลับไปทำเหมือนคุณครูที่มานำเสนอในคลีนิกวิชาการบ้าง
คุณครูกัญญารัตน์ โคจร จาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มศว. ตั้งใจมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งได้นำผลงานของตัวเองมานำเสนอแบบบรรยาย และได้เข้ารับชมการนำเสนอผลงานทั้งแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ เข้า work shop ฟังการบรรยายทางวิชาการ และการเสวนา“การจัดงานครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ตามความสนใจ และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีมาก ได้ประสบการณ์ มุมมอง และแนวทาง ใหม่ ๆ หลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ และได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนสอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน”
คุณครูศิริชัย ศรีหาตา โรงเรียนท่าคันโทวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ มีความคิดเห็นสอดคล้องกับคุณครูท่านอื่น ๆ คือ งานนี้ทำให้ได้มุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ จากการร่วมฟังเสวนาวิชาการ ได้แนวทางตัวอย่างงานวิจัยในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์จากการชมผลงานแบบโปสเตอร์
คุณครูบุษกร การอรชัย โรงเรียน สุราษฎร์ธานี ๒ จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนองานวิจัยในชั้นเรียนแบบโปสเตอร์ เล่าถึงสิ่งที่ประทับใจจากการเข้าร่วมงานนี้ คือ รูปแบบการเรียนรู้ในนิทรรศการต่าง ๆ งานวิจัยในชั้นเรียนที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ สถานที่จัดงาน และการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูจากหลาย ๆ โรงเรียน ประโยชน์ที่ได้ คือ ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและน่าสนใจ การประดิษฐ์อุปกรณ์การทดลองอย่างง่ายเพื่อนำมาใช้สอนนักเรียนในห้องเรียน
คุณครูอรญา อัญโย โรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน จ.พังงา บอกว่า งานนี้มีหัวข้อในการอบรมเชิงปฏิบัติการหลากหลายดี ประโยชน์ที่ได้คือ ได้แนวคิดในการทำวิจัย การปรับปรุงแนวทางการสอนการสร้างสื่อ การออกข้อสอบ และความรักในวิชาชีพครู
งาน วทร. จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งต่อไป สสวท. จะจัดงาน วทร. 21 ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ ในปี พ.ศ. 2555 โปรดติดตามข้อมูลได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th กันต่อไป