นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลบนคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การปลอมแปลงข้อมูล การพิสูจน์ตัวตนและการยืนยันความเป็นข้อมูลต้นฉบับที่ไม่ถูกปลอมแปลง รวมทั้งการโจมตีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีปรากฎการณ์เพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบ และสร้างเครื่องมือพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมการที่จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรม (ห้องปฏิบัติการการสืบค้นและกู้ข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์) และได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ NECTEC มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เตรียมเปิดหลักสูตรนิติวิทยาดิจิทัลเป็นแห่งแรก เพื่อพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิศวกรรมเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญให้กับหน่วยงาน ทั้งทางภาครัฐ และเอกชน โดยขณะนี้ได้จัดทำหลักสูตรปริญญาโทด้านดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะรับนักศึกษาได้ปีละประมาณ ๔๐ คน และในปี ๒๕๕๕ มีแผนที่จะจัดตั้งห้องปฏิบัติการการสืบค้นและกู้ข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ และห้องปฏิบัติการความมั่นคงบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระหว่างวันที่ ๒๖ — ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ ๒๓ (23rd WUNCA) และการประชุมวิชาการทางคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Conference on Computer Information Technologies หรือ CIT2011) และ การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารและจัดการเครือข่ายยูนิเน็ต UniNet Network Operation and Management Workshop (UniNOMS2011) ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีสมาชิกเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนวิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศ สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๕๐๐ คน โดยงานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมปาฐกถาพิเศษ “นโยบาย 3N และทิศทางการศึกษาไทย”จัดให้มีการบรรยายพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ โดยวิทยากรทั้งจากภายในและต่างประเทศ ในหลากหลายสาขา
ที่มีการนำ IT เข้าไปประยุกต์ใช้ ทั้งด้านการแพทย์ การพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล e-Learning และ Workshop ที่น่าสนใจตลอดการประชุม
สำหรับการประชุมวิชาการ CIT & UniNOMS 2011 มีผู้สนใจเสนอผลงานเข้าร่วม กล่าวคือ CIT 2011 มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี และโท นำเสนอผลงานรวม ๗๕ ผลงาน ผ่านการคัดเลือก ๔๙ ผลงาน ที่โดดเด่น เช่น การทำนายโรคพาร์กินสันโดยใช้ซัพพอร์ทเว็กเตอร์แมชชีน, การพยากรณ์ราคาทองคำด้วยวิธีระบบโครงข่ายประสาทเทียมแบบมีผู้สอน, สื่อการเรียนอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะสำหรับนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ สมาธิสั้นและออทิซึม, เทคโนโลยีหุ่นยนต์กับการใช้งานทางการแพทย์, ผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตจากการใช้ Facebook ในที่ทำงาน และเสาะหาความปลอดภัยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น
ด้าน UniNOMS มีสมาชิกเครือข่ายส่งผลงานรวม ๓๓ ผลงาน ได้รับการพิจารณาให้นำเสนอ ๑๕ ผลงาน เช่น ระบบการประสานการทำงานบนก้อนเมฆด้วยโอเพนซอสต์, ระบบการจัดการการสำรองและกู้คืนข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ Bacula, ระบบควบคุมคอมพิวเตอร์สำหรับบริการสืบค้นสารสนเทศ (Information Cafe), ระบบแสดงสถานะจุดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย แบบแสดงบนแผนที่โดย Google Maps API, ระบบห้องเรียนเอนกประสงค์ และระบบบันทึกการปฏิบัติงาน (i-Jobs) เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการถ่ายทอดสดการจัดประชุม ตั้งแต่พิธีเปิดในวันแรกคือวันที่ ๒๖ และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอด ๓ วัน ผ่านระบบ IP-TV ของมหาวิทยาลัย เผยแพร่บน Website เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้ติดตามที่ http://www.wunca.uni.net.th/wunca23/
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2849-6208-10 mu-pr