นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโตเกียว (บีโอไอโตเกียว) จะนำคณะผู้แทนจากองค์กรธุรกิจญี่ปุ่นกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย ผู้แทนหอการค้านาโกยา ผู้แทนหอการค้าโกเบ ผู้แทนหอการค้าโอซาก้า ผู้แทนหอการค้าเกียวโต เป็นต้น รวมถึงผู้แทนสื่อ มวลชนจากประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาสำรวจและศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมหารือกับคณะผู้แทนองค์กรพันธมิตรดังกล่าว เพื่อใช้โอกาสนี้ ชี้แจงถึงศักยภาพการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน ของไทย นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และการให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุดอย่างต่อเนื่อง
“การเดินทางมาประเทศไทยของกลุ่มองค์กรพันธมิตรครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในมุมมองของญี่ปุ่น ประกอบกับค่าเงินเยนที่สูงขึ้นมากยิ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นออกมาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิต ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท รวมถึงขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภายหลังจากการหารือร่วมกันครั้งนี้แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ ยังมีกำหนดจัดกิจกรรมเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ด้วย ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ดีร่วม กันยิ่งขึ้นต่อไป” นายชัยวุฒิ กล่าว
นางอรรชกา สีบุญเรือง กล่าวว่า บีโอไอ จะได้ใช้โอกาสในการพบปะหารือร่วมกับผู้แทนองค์กรพันธมิตรครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตและความพร้อมของไทยในการก้าวไปสู่การผู้นำในการเป็นตลาดการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะภายหลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเป็นตลาดเดียวกัน
นอกจากนี้ยังจะได้ยืนยันถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทิศทางของการมุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับประเทศญี่ปุ่น เป็นกลุ่มต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยสูงสุด โดยปี 2553 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 364 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 104,442 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 45.2 % ส่วนปริมาณเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 62.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีโครงการขนาดใหญ่ทียื่นขอส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ และกิจการผลิตแผ่นซึมซับ เป็นต้น