นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 25 มกราคม 2554 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้อนรับ นายคริสติยอง บลองการ์ต (MR.Christian Blanckaert) ตัวแทนของสมาคมสมาพันธ์นายจ้างฝรั่งเศส (Mouvement Entrepreneurs de France) หรือ MEDEF ในโอกาสที่นำคณะนักธุรกิจ-นักลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสมาศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2554
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ ถึงทิศทาง และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ความพร้อมในด้านการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีศักยภาพของภูมิภาค ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการประกาศนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับนโยบายของหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีมาตรการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
“สมาคมสมาพันธ์นายจ้างฝรั่งเศส ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ทั่วประเทศฝรั่งเศสกว่า 7 แสนบริษัท การพบหารือกันในครั้งนี้ จึงจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการนำเสนอศักยภาพในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคที่มีศักยภาพในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอ จะนำเสนอถึงความชัดเจนในการให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมในกลุ่มกิจการเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน กลุ่มกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นอกจากนี้ยังได้เร่งให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักลงทุน เช่น ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) และเพิ่มประเภทกิจการที่ส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบริการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ไทยและฝรั่งเศส มีความสัมพันธ์ทางด้านการลงทุนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549 — 2553) มีบริษัทจากฝรั่งเศสยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยจำนวน 84 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 5,307,600 ล้านบาท และคาดว่าหลังจากการหารือกันในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้กลุ่ม นักลงทุนฝรั่งเศส ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง