ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาที่กล่าวได้ว่ามีการเติบโตตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านสังคมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแต่ละปีอย่างมหาศาล โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีจำนวนประชากรโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงปีละ ๑.๓ ล้านคน หรือเฉลี่ย ๓,๕๐๐ คนต่อวัน บาดเจ็บปีละ ๒๐ - ๕๐ ล้านคน หรือเฉลี่ย ๓๐,๐๐๐ คนต่อวัน ประชากรที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบร้อยละ ๙๐ อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงได้เห็นความสำคัญของปัญหา และกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา มีการจัดทำแผนงาน มาตรการต่างๆ และมีการดำเนินการอย่างเป็น รูปธรรมทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ตัวอย่างประเทศที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจนประสบความสำเร็จสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก เช่น สวีเดน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น มีการคาดการณ์สำหรับประเทศที่มีรายต่ำถึงปานกลางว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลา ๑๐ ปี
จากปัญหาข้างต้นส่งผลให้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๖๓ หรือในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าเป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดให้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข โดยตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งใน ทศวรรษหน้า [Decade of Action for Road Safety (๒๕๕๕-๒๕๖๓)]
ในประเทศไทย อุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มจะลดลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นมา อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเรื่อยๆ จาก ๒๒ เหลือ ๒๐ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ในระยะ ๒ — ๓ ปีหลังที่ผ่านมาค่อนข้างจะคงที่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมยังอยู่ในภาวะที่น่าวิตก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ ๑๘ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ประมาณ ๑๐.๒ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน จากข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง ๑๑,๐๕๘ คน หรือเฉลี่ยวันละ ๓๑-๓๓ คน บาดเจ็บสาหัสเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งถ้ารวมจำนวนทั้งผู้บาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บไม่สาหัสจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน และในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ มักพบว่ามีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงขึ้นเกือบ ๒ เท่าตัว สาเหตุหลักๆ ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ การหลับใน การขับรถเร็ว การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถและการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร เป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของทั้งคนในสังคมไทยและสังคมของโลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในแง่มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมีความผาสุก ถือเป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีการระบุไว้ข้อหนึ่งว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในการมีชีวิต มีเสรีภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย” ดังนั้น ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากความประมาท การขาดความรับผิดชอบของคนบางคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคม ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การที่รัฐไม่ทำหน้าที่ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนก็ถือได้ว่า เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุดังกล่าว คณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเห็นควรจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในความปลอดภัยทางถนนต่อสาธารณชน รวมทั้งเพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน ในการร่วมกันหาทางออกในการลดความสูญเสียจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ผลอย่างจริงจังและยั่งยืน
วัตถุประสงค์
๑.เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
๒.เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น
๓. เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์กร
กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๑๕๐ คน ประกอบด้วย
กลุ่มนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มสื่อมวลชน คณะอนุกรรมการฯและเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน
รูปแบบกิจกรรม
จัดรูปแบบเป็นเวทีสาธารณะ มีการนำเสนอข้อมูลอภิปรายโดยวิทยากร ๕ ท่าน ผู้ดำเนินรายการ ๑ ท่าน มีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมรับฟัง แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และจัดทำสรุปข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระยะเวลาดำเนินการและสถานที่
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ — ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- คณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน
- สำนักส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ประชาชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนกับความปลอดภัยทางถนน
๒. หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจั
งและยั่งยืนมากขึ้น
๓. สื่อมวลชนให้ความสนใจและนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางต่อไป
๔. องค์กรเป็นที่รู้จัก สาธารณชนให้ความสนใจ และยอมรับต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมากยิ่งขึ้น
กำหนดการจัดสัมมนา เรื่อง “เมา-ง่วง-ซิ่ง-โทร แล้วขับ มหันตภัยการละเมิดสิทธิ”
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕
ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี (ด้านทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
เวลา ๑๒.๓๐ — ๑๓.๓๐ น. ลงทะเบียน
เวลา ๑๓.๓๐ — ๑๓.๕๕ น. กล่าวเปิดเวทีสาธารณะและแจ้งวัตถุประสงค์
โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิชกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน
เวลา ๑๓.๕๕ — ๑๖.๓๐ น. เวทีสาธารณะเรื่อง “เมา-ง่วง-ซิ่ง-โทร แล้วขับ มหันตภัยการละเมิดสิทธิ”
โดย - นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รศ.พิชัย ธานีรณานนท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- นายจาตุรนต์ ฉายแสง
- นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินรายการโดย
- นางสาวพรพัฒนา สิงคเสลิตอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน
เวลา ๑๖.๓๐ — ๑๖.๕๐ น. ประกาศข้อเรียกร้องของกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน
เวลา ๑๖.๕๐ น. กล่าวปิดเวทีสาธารณะ
โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิชกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน
หมายเหตุ
- ถ่ายทอดสดทางเครือข่ายวิทยุชุมชนและวิทยุอินเทอร์เน็ต ๒๐ สถานีทั่วประเทศ
-บริการอาหารว่างและเครื่องดื่มในห้องประชุม