"กิจกรรมนี้เป็นการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา โดยเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ กับการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในงานสืบสวนสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีและค้นหาความจริง โดยยกตัวอย่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับมัธยมศึกษา อาทิ เทคนิคการใช้ลายพิมพ์ DNA ระบุตัวบุคคลและพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด การแยกสารด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีเพื่อระบุชนิดและองค์ประกอบ เทคนิคการตรวจหาหมู่เลือด เทคนิคการใช้ลายนิ้วมือระบุตัวบุคคล เทคนิคการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะด้วยสารละลายเบเนดิกต์ เป็นต้น มากระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ ได้พัฒนาทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านสถานการณ์จำลองที่กำหนดได้ เพื่อเป็นแนวทางให้ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถนำความรู้มาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมในลักษณะการแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนได้เรียนรู้" อาจารย์วราภรณ์ ต.วัฒนผล กล่าว
ในเรื่องของการไขปริศนาแก้ปัญหาของนักสืบ หรือการไขคดีของตำรวจ จำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานการสังเกต การตั้งคำถาม และการคาดการณ์จากความรู้เดิมที่มีอยู่ มาคิดวิเคราะห์ เพื่อค้นหาคำตอบให้ได้ สิ่งเหล่านี้ ไม่แตกต่างจากการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตั้งสมมติฐาน ทดลอง คิดวิเคราะห์ การสรุปข้อมูลจากการทดลอง เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย
สมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดจุดมุ่งหมายชองการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ทั้งสิ้น 13 ทักษะ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ทักษะกระบวนการพื้นฐาน หรือ ทักษะเบื้องต้น ได้แก่ การสังเกต การวัด การคำนวณ การจำแนกปรเะเภท การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา การจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล การลงความคิดเห็นจากข้อมูล การพยากรณ์ และ ทักษะกระบวนการขั้นบูรณาการ หรือ ทักษะเชิงซ้อน ได้แก่ การตั้งสมมติฐาน การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ การกำหนดและควบคุมตัวแปร การออกแบบ และดำเนินการทดลอง การตีความหมายของข้อมูลและการลงข้อสรุป
ในปัจจุบัน มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์และพัฒนาเป็นวิธีการหรือเครื่องมือ ในการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นช้อมูลสนับสนุนผลการสืบสวนคดี ในการหาตัวผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ไม่ปกติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้องแท้จริง เชื่อถือได้ตามหลักวิทยาศาสตร์และยุติธรรมต่อทุกฝ่ายนั้น ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งพยานหลักฐาน บุคคล สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า "นิติวิทยาศาสตร์"
นิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการสืบสวนโดยทั่วไป ได้แก่ การตรวจหาสถานที่เกิดเหตุและการถ่ายรูป การตรวจหาลายนิ้วมือ ฝ่าเท้า การตรวจเอกสาร เช่น ตรวจลายเซ็น ลายมือเขียน การตรวจหาอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง การจรวจทางเคมี เช่น การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ การตรวจทางฟิสิกส์ เช่น ตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนรถ การตรวจทางชีววิทยา เช่น ตรวจเส้นผม เลือด อสุจิ การตรวจทางนิติเวช ได้แก่ งานนิติพยาธิ งานนิติวิทยาชีวเคมี งานพิสูจน์บุคคล งานภาพการแพทย์ โดยตรวจจากดีเอ็นเอ ประวัติฟัน นอกจากนั้น ยังมีวิธีการตรวจพยานวัตถุโดยวิธีทางเคมีและชีววิทยา รวมทั้งวิธีทางกายภาพ หรือ งานพิสูจน์ทางฟิสิกส์
สำหรับชุดกิจกรรมที่ทีมงานได้นำไปให้ผู้ร่วมงานได้ฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การใช้เทคนิคโครมาโทกราฟีแยกองค์ประกอบของน้ำหมึกจากปากกาที่สงสัย และ การศึกษาลายนิ้วมือระบุตัวบุคคลและทดลองเก็บลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุ ซึ่งจากความน่าสนใจของกิจกรรม และประเด็นฮอทฮิตในสังคม ที่ล้วนแต่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้บูธนี้หนาแน่นไปด้วยคุณครู นักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอย่างสนใจใคร่รู้และให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่เลยทีเดียว
นอกจากนั้น ในงาน วทร. 20 ยังได้จัดกิจกรรม ประชุมปฏิบัติการ "นิติวิทยาศาสตร์" ให้แก่คุณครูและผู้สนใจ โดยทีมนักวิชาการและเจ้าหน้าที่นิติกรของ สสวท. ประกอบด้วย นายกานต์ พันธ์เพิ่มสิน อาจารย์วัฒน วัฒนากูล อาจารย์กนกศักดิ์ ทองตั้ง และอาจารย์สติยา ลังการ์พินธุ์ อีกด้วย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจนเต็มห้อง
ทั้งนี้ คุณครูที่สนใจนำชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ช่วยสืบไปจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล์ [email protected] ; [email protected] ; [email protected]
ส่วนผู้ที่พลาดงาน วทร. 20 โปรดติดตามการจัดงาน วทร. 21 ในปี พ.ศ. 2556 ได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th ในโอกาสต่อไป