กรมควบคุมโรค ตั้งเป้า!! ปี 2558ลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการให้น้อยลงครึ่งหนึ่งของปี 2553

อังคาร ๒๕ มกราคม ๒๐๑๑ ๑๗:๓๓
ระบุ!!โรคเรื้อนยังเป็นภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงแต่ความพิการยังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องเร่งแก้ไข มอบสถาบันราชประชาสมาสัยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และภาคท้องถิ่นขับเคลื่อนการทำงานผ่านนโยบายอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการในปี 2558 ให้น้อยลงเหลือครึ่งหนึ่งของปี 2553

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อนของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคเรื้อนในทะเบียนรักษาทั่วประเทศ จำนวน 671 คน ความชุกของโรค คิดเป็น 0.11 คนต่อ 10,000 ประชากร ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 — 31 ธันวาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ที่ค้นพบ รวม 358 คน คิดเป็น 0.56 ต่อ 100,000 ประชากร กระจายอยู่ในภาคต่างๆของประเทศ แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 164 ราย , ภาคใต้ 80 ราย , ภาคเหนือ 70 ราย และภาคกลาง 44 ราย จำแนกเป็นประเภทเชื้อมาก (MB) จำนวน 257 ราย หรือร้อยละ 71.79 , ประเภทเชื้อน้อย (PB) จำนวน 101 ราย หรือร้อยละ 28.21 เป็นเพศชาย 237 ราย และเพศหญิง 121 ราย

ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีความพิการระดับ 2 คือผู้ป่วยที่สามารถมองเห็นความพิการของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งได้ เช่น ตาหลับไม่สนิทหรือม่านตาอักเสบหรือกระจกตาเป็นฝ้าขุ่นสายตามัวมาก (นับนิ้วมือไม่ถูกที่ระยะ 6 เมตร หรือวัดสายตา ได้น้อยกว่า 6/60) , มือมีรูปร่างผิดปกติหรือมีแผลหรือนิ้วงอ ข้อติดแข็ง หรือข้อมือตก ,เท้ารูปร่างผิดปกติ หรือมีแผลหรือนิ้วงอ ข้อติดแข็ง หรือข้อเท้าตก รวมจำนวน 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.53 และเป็นผู้ป่วยเด็กที่พิการอายุต่ำกว่า15 ปี จำนวน 9 ราย หรือร้อยละ 2.51ถึงแม้ปัจจุบันจะมีอัตราผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่ลดลงก็ตาม แต่ความพิการก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วย โรคเรื้อน ที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ เพราะได้รับการรังเกียจจากสังคมจนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ตามปกติ ความพิการในผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยที่มีความพิการเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรค โดยสถาบันราชประชาสมาสัยจึงได้รณรงค์ให้มีการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครบตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยลดความพิการ เช่น เชื้อน้อยรักษา 6 เดือน เชื้อมากรักษา 2 ปี โดยตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2558 จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการลงให้ได้ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยในปี 2553

ด้าน นพ.รัชต์ วงศ์ตรังคพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่เป็นสิ่งที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองนโยบายหลักของกรมควบคุมโรคที่ต้องเร่งผลักดันงานด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสู่ภาคท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ “อำเภอเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแบบยั่งยืน”โดยสถาบันราชประชาสมาสัยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแกนนำชุมชนในพื้นที่เพื่อค้นหาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อนในเขตอำเภอที่มีปัญหาความชุกของโรค ที่มีค่าเฉลี่ยผู้ป่วยรายใหม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ปี 2552 มีจำนวน 8 อำเภอใน 5 จังหวัด)และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างยุ่งยากในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากปัญหาด้านภาษาในการสื่อสาร การเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย และมีอาณาเขตติดแม่น้ำและทะเลทำให้การควบคุมโรค เป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ผู้นำศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครูในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านโรคเรื้อนและแนวท

างการตรวจวินิจฉัยเพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สถาบันฯได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตพื้นที่ 12 บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ของอำเภอต่างๆในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหา ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2558 จะสามารถขจัดปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่เหล่านี้ได้สำเร็จ

นพ.รัชต์ กล่าวต่อว่า ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของคนไทยและเป็นกลุ่มที่มีโอกาสนำเชื้อเข้ามาแพร่กระจายในประเทศไทยได้ รวมทั้งกลุ่มชาวไทยภูเขาซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีความลำบากในการเดินทางผู้ป่วยต้องอยู่ประจำแต่ในพื้นที่โอกาสเข้าถึงการรักษาหรือการค้นหาผู้ป่วยจึงทำได้ยาก

สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดอาจป่วยเป็นโรคเรื้อนสามารถสังเกตได้เช่น มีวงด่าง ขาว ชา หยิกไม่เจ็บ หรือมีผื่นแดงเป็นปื้นหนา ไม่คัน หรือมีความพิการของนิ้วมือ-นิ้วเท้า นิ้วหงิกงอ ชา ข้อมือหรือข้อเท้าตก เป็นแผลที่ฝ่าเท้า ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว ที่สำคัญขอให้ตระหนักว่าโรคเรื้อนไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายต้องอาศัยระยะเวลาฟักตัว บางรายอาจนานเป็น 10 ปี โดยเฉลี่ยแล้วโรคเรื้อนจะมีระยะฟักตัว 3-5 ปีจึงจะปรากฏอาการของโรคและการแพร่เชื้อจะเกิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนประเภทเชื้อมากที่ยังไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถค้นพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เร็วก็จะรักษาได้ทันเวลาและช่วยลดความเสี่ยงต่อความพิการได้อย่างถาวร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมควบคุมโรค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ