ในขณะที่ประเด็นเหล่านี้กำลังสร้างความหวั่นวิตกทั้งในแง่ของขนาดและความซับซ้อน ท่านอิเคดะได้แสดงความศรัทธาในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะเผชิญหน้าและเอาชนะแม้แต่ความท้าทายที่ดูเหมือนยากเกินฝ่าฟัน
สำหรับประเด็นด้านการปลดนิวเคลียร์นั้น ท่านอิเคดะแสวงหาแนวทางที่ประชาคมโลกพึงปฏิบัติได้ดังนี้ 1) กำหนดโครงสร้างซึ่งจะทำให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เดินหน้าไปสู่การปลดอาวุธได้อย่างรวดเร็ว 2) ป้องกันการพัฒนาหรือการทำให้อาวุธนิวเคลียร์มีความทันสมัยมากขึ้น และ 3) ทำให้อาวุธนิวเคลียร์ที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามข้อตกลงว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapons Convention: NWC)
เพื่อบรรลุผลดังกล่าว ท่านอิเคดะแสดงความสนับสนุนข้อเรียกร้องของนายบัน คี-มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการปลดอาวุธนิวเคลียร์เป็นประจำ ท่านอิเคดะเสนอให้ประเทศที่ถอนอาวุธนิวเคลียร์เป็นสมาชิกประจำของการประชุม และให้ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนขององค์กรเอ็นจีโอได้เข้าร่วมหารือในการประชุมสุดยอดดังกล่าวด้วย ท่านอิเคดะเสนอให้เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อทบทวนสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-proliferation Treaty (NPT) Review Conference) ในปีพ.ศ.2558 และแนะนำว่าการประชุมนี้ควรมีบทบาทในฐานะการประชุมสุดยอดด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์
เพื่อผลักดันให้สนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) มีผลบังคับใช้ ท่านอิเคดะได้เรียกร้องให้มีการสร้างกรอบความร่วมมือต่างๆ ในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับพหุภาคี โดยแบ่งตามกลุ่มประเทศ เช่น อียิปต์ อิสราเอล และอิหร่าน เพื่อให้สัตยาบันร่วมกันในสนธิสัญญาดังกล่าว ขณะที่ข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้ที่ได้จากการเจรจาหกฝ่าย (Six-Party Talks) ควรช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์
ท่านอิเคดะย้ำถึงการสนับสนุนที่หนักแน่นต่อข้อตกลง NWC โดยเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ จากกฎหมายสากลแบบดั้งเดิมซึ่งเกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลต่างๆโดยลำพัง ไปเป็นรูปแบบของกฎหมายที่อำนาจบังคับสูงสุดนั้นได้มาจากเจตจำนงของประชากรโลก
สำหรับประเด็นการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ท่านอิเคดะชี้ว่า สิทธิมนุษยชนไม่สามารถสร้างขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือกฎหมาย แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความพยายามของคนธรรมดาที่จะแก้ไขความอยุติธรรมที่พวกเขาประสบพบเจออยู่รอบตัว นั่นหมายความว่า การสร้างความรับรู้ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของเราเองและของผู้อื่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน”
ท่านอิเคดะสนับสนุนความพยายามในการส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะความพยายามของยูเอ็น และเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรที่ปรึกษาแห่งใหม่ภายใต้หลักการของยูเอ็นเพื่อที่ความพยายามดังกล่าวจะได้บรรลุผลสำเร็จ ท่านอิเคดะเน้นย้ำถึงความสำคัญของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการให้ความรู้และการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Education and Training) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และได้อธิบายการดำเนินงานของเอสจีไอเพื่อสนับสนุนกระบวนการนี้ เช่น การผลิตดีวีดี และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
ท่านอิเคดะยังได้เรียกร้องให้ศาสนาต่างๆของโลกเข้าร่วมการจัดเสวนาระหว่างศาสนาเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
ท่านไดซาขุ อิเคดะ เป็นประธานสมาคมพุทธศาสนาโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เอสจีไอ ซึ่งมีสมาชิก 12 ล้านคนทั่วโลก และมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา ท่านได้เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 เพื่อเป็นการรำลึกถึงการก่อตั้งเอสจีไอ และให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมสำหรับการแก้ปัญหาระดับโลกภายใต้หลักพุทธปรัชญามนุษยนิยม
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ :
โจน แอนเดอร์สัน
สำนักงานข้อมูลสาธารณะ
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทรศัพท์: +81-80-5957-4711
โทรสาร: +81-3-5360-9885
อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp
AsiaNet 43016
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --