ประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลโดยซื้อจากต่างประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก เพื่อนำมาใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลกว่า 6 ล้านคัน ซึ่งรถดีเซลเหล่านี้เป็นต้นทุนหลักของประเทศในการผลิตด้านการเกษตร, ด้านการขนส่ง มีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่งของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งเงินกองทุนชดเชยน้ำมันดีเซลกำลังจะหมดไป และราคาน้ำมันดิบของโลกกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และการลดต้นทุนของน้ำมันดีเซลโดยใช้ก๊าซ LPG ผสมหรือทดแทนก็ยังไม่มี
ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า “เนื่องจากปัญหาน้ำมันทั่วโลกในตอนนี้มีอัตราที่สูงมากขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงเศรษฐกิจที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงได้คิดค้นทำการวิจัยเรื่อง “การเขียนซอฟแวร์ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมระหว่างน้ำมันดีเซลกับก๊าซ LPG” เพื่อหวังที่จะลดราคาน้ำมันดีเซลให้มีอัตราที่ต่ำลง และช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งจะเพิ่มค่าเชื้อเพลิงถึง 50 % ของต้นทุนทั้งหมดให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพื่อต้องการลดการใช้น้ำมันดีเซลจากการนำเข้าให้ต่ำกว่า 50 % ช่วยประหยัดเงินตราของประเทศกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ภาคขนส่งใช้ก๊าซ LPG อีกด้วย”
ดร.สุรเชษฐ กล่าวอีกว่า “การใช้ก๊าซ LPG ผสมกับน้ำมันดีเซลจะต้องลด CARBON FOOT PRINT ลงกว่าเดิม และจะต้องไม่เพิ่มความร้อนให้กับเครื่องยนต์ และเมื่อใช้ก๊าซหมดถังแล้วยังสามารถกลับมาใช้น้ำมันได้ตามปกติ สำหรับขั้นตอนในการทำ เริ่มต้นทดลองโดยอาศัยก๊าซ CNG ก่อน ซึ่งต้องใช้ก๊าซ Mixer เข้ามาช่วยทำให้ก๊าซ CNG เฉื่อยลง จากนั้นก็อยู่ในส่วนของการปรับปรุง ECU (Electronic Control Unit) ใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบออโต้เมติก มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของงานวิจัยนี้คือ เปลี่ยนก๊าซ Mixer ที่สามารถทำให้ก๊าซ LPG เฉื่อยลงโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ดีเซล และต้องมี ECU ที่พัฒนาเองนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการทดลอง
จากการทดลองงานวิจัยนี้ ผลปรากฏว่า ทำให้รถยนต์มีกำลังม้าและกำลังบิดเพิ่มขึ้นกว่า 50% ช่วยประหยัดน้ำมันดีเซลกว่า 50% ของค่าเชื้อเพลิงเดิม โดยใช้ดีเซลลดลงกว่า 66% เหลือแค่ 33% ความร้อนของเครื่องยนต์ก็คงที่ ควันที่ออกมาจากการใช้ก๊าซ LPG สามารถลดจำนวนคาร์บอนได้เกินครึ่งกว่าจำนวนเดิมที่มีอยู่ และที่สำคัญ เมื่อใช้ก๊าซ LPG หมดถังแล้ว ระบบจะกลับไปใช้น้ำมันดีเซล สามารถขับขี่ไปได้อย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ในการวิจัยครั้งนี้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต, การเกษตร, การขนส่งในด้านต่าง ๆ ลดลงกว่า 25% ทำให้ประหยัดเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และที่สำคัญยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ถึง 60% ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน เพียงแค่ลงทุนติดตั้งเฉพาะอุปกรณ์เสริม โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์
นับว่าเป็นงานวิจัยที่สามารถช่วยลดต้นทุนหลักของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตพร้อมที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วยราคาน้ำมันที่ถูกลงแต่ยังคงประสิทธิภาพในการใช้งาน สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยเรื่อง ”การเขียนซอฟแวร์ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมระหว่างน้ำมันดีเซลกับก๊าซ LPG” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร. 02-282-9009 หรือ www.rmutp.ac.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-618-7781 โอเค แมส