มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 2 เรื่อง “การวิจัยท้องถิ่นเพื่อแผ่นดินไทย : พัฒนาคุณภาพชิวีตของคนในท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 12-19 มกราคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม หนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวราชภัฏสงขลา คือผลงานของ ผศ.วันทนีย์ บางเสน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและฝึกปฏิบัติวิชาชีพขั้นพื้นฐาน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผู้จัดทำงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมครูผู้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในโรงเรียนที่จัดการเรียนร่วม ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีงบประมาณ 2552” ซึ่งมุ่งศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการของครูผู้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต 1 จำนวน 31 แห่ง ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ที่จัดการเรียนการสอนแบบเรียนร่วม เพื่อแสวงหาหนทางพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมครูผู้สอนให้เกิดผลสำฤทธิ์สูงสุด ซึ่งเด็กพิเศษส่วนใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของครูเหล่านี้เป็นเด็กพิเศษในกลุ่ม LD คือเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์และภาษาไทย
ขั้นตอนสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักสูตรฝึกอบรมครูผู้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในโรงเรียนที่จัดการเรียนร่วม ที่มีประสิทธิภาพ คือการกำหนดหัวข้อในการอบรมโดยผู้วิจัย และสำรวจความต้องการของผู้เข้ารับการอบรมที่มีต่อหัวข้อต่างๆ จากนั้นนำหัวข้อที่ได้รับความต้องการอบรมสูงสุด 6 อันดับ มาร่างหลักสูตรและส่งต่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบ เมื่อร่างหลักสูตรผ่านความเห็นชอบ จึงจัดอบรมให้แก่ครูผู้สอน โดยมีการสอบวัดความรู้ก่อนและหลังการอบรมเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เข้าอบรม สำหรับหัวข้อที่มีการจัดอบรมเรียงตามลำดับความต้องการของผู้เข้าอบรมได้แก่ เจตคติที่มีต่อคนพิการ ความรู้เกี่ยวกับเด็กพิเศษ ความรู้เกี่ยวกับเด็กกลุ่มLD การจัดทำสื่อเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่ม LD แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล ( IIP) ซึ่งภายหลังการอบรม พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วม และสามารถนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วม ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อยู่ในระดับมาก
“สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภาคใต้ ที่เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ ซึ่งในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ผลิตครูผู้สอนเด็กพิเศษที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยบริการผู้ปกครองและเด็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านการให้คำปรึกษาและการจัดการเรียนการสอน กระตุ้นพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ และติดตามช่วยเหลือพร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีสถาบันฯ จะรับเด็กพิเศษที่มีความพิการไม่รุนแรงเข้าศึกษาจำนวนประมาณ 15 คน และหากสามารถส่งเด็กพิเศษเข้าศึกษาในโรงเรียนร่วมได้อย่างน้อยปีละ 1 คน ก็นับเป็นผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ”
ผศ.วันทนีย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เจตคติที่ดีถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลเด็กพิเศษที่ครูผู้สอนพึงมี ส่วนทักษะและความสามารถในการสอนหรือดูแลเด็กนั้น เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้