อาจารย์เฉลิมชัย เงารังษี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) กล่าวว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร มีนโยบายพัฒนาให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2560 สำหรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กว่า 14 ปี ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตด้านสถาปัตยกรรมหลัก ด้านศิลปะและการออกแบบ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมเร่งพัฒนาและผลักดันให้เกิดผลงานทางวิชาการ และงานวิจัยที่สามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของคณะฯในการ “มุ่งสู่การเป็นสถาบันทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นนำในระดับประเทศ”
อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็ศึกษาเปรียบเทียบภาพรวมแผนกลยุทธ์กับองค์กรทางการศึกษาในระดับอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนคณะฯให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. พัฒนาระบบการเรียนการสอน และการวิจัย โดยการบริหารงานเชิงรุกกำหนดแนวทางในการทำวิจัยของบุคลากร ยึดแนวองค์ความรู้พื้นบ้าน พื้นถิ่นภาคเหนือตอนล่าง เพื่อส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สนับสนุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้กับบุคลากร และการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด รวมทั้งความพร้อมของสถานที่ ในเรื่องห้องปฏิบัติการและโสตทัศนูปกรณ์
2. การผลิตบัณฑิตมุ่งยกระดับมาตรฐานนิสิต และบัณฑิต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันการให้บริการทางวิชาการ เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาไม่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกต่อไป แต่ขยายสู่การแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น อีกทั้งสภาพการจัดการศึกษาผ่านระบบสื่อสารสนเทศ ส่งผลให้การแข่งขันการศึกษาจะทวีความรุนแรง จำนวนตัวเลขของผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนการว่างงานของนิสิต/นักศึกษาจบใหม่ ที่เพิ่มสูงขึ้น คณะฯ จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ที่สำคัญเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
“ยิ่งไปกว่านั้น คณะฯ ได้วางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่นิสิต ด้วยการสนับสนุนโครงการเสริม ทักษะความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษาอังกฤษ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความรู้ทางด้านการตลาดและการเงิน การเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม เป็นต้น สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศโดยจัดทำระบบ E-leaning พร้อมพัฒนาห้องสมุดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย รองรับการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิต”อ.เฉลิมชัยกล่าว
อ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า 3. การบริการทางวิชาการ ปรับปรุงสถานศิลปะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาคเหนือตอนล่าง ให้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยในลักษณะอื่น การให้บริการทางวิชาการ และการฝึกวิชาชีพแก่นิสิต พร้อมจัดการระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพรองรับการประกันคุณภาพทางการศึกษา โดยการเพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของศิษย์เก่า โดยจัดเป็น Alumni Office ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมของศิษย์เก่าในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันจะเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการบริหาร และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สนองความต้องการของสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับชาติ และ4. ระบบบริหาร โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อเป็นการวางรากฐานการเติบโต และการพัฒนาคณะฯอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่ระดับสากลได้ในที่สุด โดยพัฒนาระบบสารสนเทศในWebsite ของคณะฯรองรับ
“ที่ผ่านมาว่า การบริหารงานภายในคณะฯ มีโครงสร้างกว้างๆในการบริหารงานโดยอิงเกณฑ์บริหารการจัดการคุณภาพองค์กรทางการศึกษาของภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA) และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากลของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพยายามปรับทิศทางการดำเนินงานตามแผน(Action Plan) ให้มีความสอดคล้อง เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ และเป็นระบบต่อการก้าวไปให้ทันการแข่งขันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจสังคม และการศึกษาของประเทศ และในระดับอาเซียน มีการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการดำเนินการโครงการต่างๆ ทำให้เห็นโอกาสในการปรับปรุงนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานขององค์กรในอนาคต” อ.เฉลิมชัยกล่าว