นักวิชาการเผย “รุ้งหัวกลับ” แท้จริงคือ“อาทิตย์ทรงกลด”แบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล

อังคาร ๐๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ๑๗:๔๖
จากกรณีที่มีการนำภาพคล้าย รุ้งกินน้ำกลับหัว ซึ่งถ่ายโดย ดร.แจ็กเกอลีน มิตตอง นักดาราศาสตร์ อวกาศแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งถ่ายภาพได้จากท้องฟ้าบริเวณใกล้บ้านพักที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเกิดรุ้งกินน้ำมีลักษณะกลับหัวเช่นนี้อาจเป็นลางร้าย หรือเป็นสัญญาณเตือนการเกิดภัยพิบัติ รวมถึงความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วโลกได้นั้น (ที่มาข่าว http://hilight.kapook.com/view/55965) ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายว่า ภาพ “รุ้งกลับหัว” ไม่ใช่รุ้งกินน้ำที่มีลักษณะหัวกลับแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบกับผิวของหยดน้ำแล้วหักเหออกมาเป็นแสงสีรุ้ง ดังเช่นรุ้งกินน้ำทั่วไป แต่เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบไปยังผลึกน้ำแข็งหกเหลี่ยมในเมฆ และหักเหผ่านผลึกออกมาจนเกิดเป็นแถบสีรุ้ง ซึ่งเรียกว่า อาทิตย์ทรงกลด (solar halo) โดยภาพเส้นโค้งสีรุ้งที่อยู่เหนือดวงอาทิตย์ในภาพนั้น คือ อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (CircumZenithal Arc : CZA)

“อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล เกิดจากแสงอาทิตย์พุ่งเข้าผิวด้านบนของผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมแบนๆ ที่อยู่ภายในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) แล้วหักเหภายในผลึกรูปแผ่นทะลุออกไปทางผิวด้านข้าง ซึ่งแสงที่เดินทางผ่านผลึกจะปรากฏเป็นเส้นโค้งสีรุ้งอยู่เหนือดวงอาทิตย์ โดยมีส่วนโค้งหงายขึ้น และมีสีแดงอยู่ด้านใกล้ดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงฤดูฝนเมื่อปี 2553 โดยมีสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ บันทึกภาพไว้ได้

“เส้นโค้งนี้มีลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นส่วนโค้งของวงกลมที่อยู่รอบจุดยอดฟ้า หรือจุดจอมฟ้า (zenith) ซึ่งเป็นจุดเหนือศีรษะ จึงเรียกว่า เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (circumzenithal arc) คำว่า circum มีรากศัพท์เดียวกับ circle ที่แปลว่าวงกลม นั่นเอง เส้นโค้งนี้มีชื่อย่อคือ CZA (CircumZenithal Arc) โดยบางคนมองว่าเส้นโค้ง CZA เปรียบเสมือน “รอยยิ้มขนาดยักษ์บนท้องฟ้า”

ภาพแสดงอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล

ที่มาของภาพ : ชมรมคนรักมวลเมฆ

ทั้งนี้เส้นโค้ง CZA จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำ หรือมีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 32.3 องศา เท่านั้น เพราะที่ค่านี้ เส้นโค้ง CZA จะอยู่ใกล้จุดจอมฟ้าและจางลงจนมองไม่เห็น โดยเราจะเห็นเส้นโค้ง CZA ได้ชัดเจนเมื่อดวงอาทิตย์มีมุมเงยในช่วง 15-25 องศา”

ดร.บัญชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าอาทิตย์ทรงกลดคือ วงกลมสีรุ้งล้อมรอบดวงอาทิตย์ หรือมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า การทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา เท่านั้น แต่ความจริงแล้วการทรงกลดของดวงอาทิตย์มีลักษณะที่แตกต่างกันมากกว่า 30 รูปแบบ เนื่องจากผลึกน้ำแข็งรูป 6 เหลี่ยม ที่ล่องลอยอยู่ในเมฆเมฆซีร์โรสเตรตัส ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปรากฏการณ์ทรงกลดนั้นมีถึง 3 แบบ ได้แก่ 1) ผลึกรูปแผ่น 2) ผลึกรูปแท่ง และ 3) ผลึกรูปพีระมิด อีกทั้งแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผ่านผลึกน้ำแข็งก็สามารถเข้าได้หลายทิศทาง จึงทำให้การทรงกลดของดวงอาทิตย์นั้นมีรูปแบบที่หลากหลายด้วย

อย่างไรก็ดีภาพ “รอยยิ้มสีรุ้ง” หรือ การอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัลนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก มองในแง่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงถือว่าเป็น “เรื่องดี” และเชื่อว่าเราจะยังมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดรูปแบบอื่นๆ จำนวนมาก ดังเช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ประเทศไทยก็ได้เกิดการทรงกลดแบบซันด็อกที่อุบลราชธานีและศรีษะเกษ ซึ่งสร้างความประทับใจและทำให้คนจำนวนไม่น้อยสนใจท้องฟ้าและธรรมชาติรอบตัวเรา

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงกลดแบบต่างๆ ของดวงอาทิตย์ สามารถศึกษาจากเว็บของ ชมรมคนรักมวลเมฆ (http://cloudloverclub.com/pages/halo/) หรือสอบถาม ชมรมคนรักมวลเมฆ สาขา FaceBook ได้โดยสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม