นายสมบัติ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ด้านการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบราชการปี ๒๕๔๕ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเชื่อมประสานภารกิจด้านการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศ พร้อมทั้งสามารถที่จะเกื้อหนุนและบูรณาการกัน อันนำไปสู่การพัฒนาในมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและก้าวหน้าสามารถแข่งขันในระดับสากล มีภารกิจหลักในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬาและนันทนาการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ กระจายรายได้และโอกาสในการพัฒนาแก่ชุมชน อย่างทั่วถึง รวมถึงการใช้กีฬาและนันทนาการในการเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งร่ายกาย จิตใจ สติปัญญา สังคมและสนับสนุนส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับนานาอายะประเทศ ในรอบปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะประสบกับปัญหาการชุมนุมทางการเมืองและการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เพื่อใช้โอกาสจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ในการเตรียมความพร้อม ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มุ่งเน้นในการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของหน่วยงานโดยมุ่งเน้นการบริหารงานแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ พยายามกระตุ้น ส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ผลการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรอบปีที่ผ่านมา มีผลงานทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในภารกิจแต่ละด้านเป็นอย่างดียิ่ง อาทิ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๕ ซึ่งประเทศไทยได้เป็น เจ้าเหรียญทอง การแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ ๑ ณ ประเทศสิงคโปร์ การแข่งขันกีฬาอาเซี่ยนสคูลเกมส์ ณ ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทยได้อันดับ ๒ ด้านการท่องเที่ยว ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การเข้าร่วมประชุมสมัชชาองค์การการท่องเที่ยวโลก(UNWTO) ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ ๑๓ เป็นต้น ผลจากความสำเร็จการดำเนินงานเกิดขึ้นได้เพราะทุกฝ่ายได้ร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจ มุ่งมั่นวิริยะอุสาหะในการวางแผนและขับเคลื่อน ภารกิจสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จนเป็นที่พอใจของประชาชนและได้รับการโหวตให้ติดอันดับ ๑ ใน ๓ กระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบผลงานมากที่สุด จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา และในปี ๒๕๕๔ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ครบรอบการสถาปนา ๘ ปี เรายังคงตั้งมั่นในปณิธานในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งด้านการกีฬาไทยเพื่อความเป็นสากลในระดับเวทีโลกอย่างภาคภูมิ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
ในส่วนของผลงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรอบปี ๒๕๕๓ ที่สำคัญๆ ได้แก่ ๑.โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ๒. การสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนโดยดำเนินโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการยุวทูตการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Young Ambassador Project)
โครงการ ASEAN Family Rally โครงการ ASEAN MRA สัญจร (ASEAN MRA Mobile Mission)
และโครงการ ASEAN Youth Football Cup ๓. การจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ๔.การจัดทำแผนแม่บทและสนับสนุนการท่องเที่ยวในโครงการพระราชดำริ
๕. การดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ๖.การสนับสนุนการดำเนินงานสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ๗.จัดทำแผนพัฒนาเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการท่องเที่ยว ๘. โครงการท่องเที่ยวตามรอยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๙.โครงการศึกษาและสำรวจออกแบบการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว Royal Coast ๑๐.การส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Medical Tourism Hub) อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
๑๑. โครงการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างสถานที่สำคัญริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ๑๒. การดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ๗ มาตรการ ได้แก่ ๑.ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นการชั่วคราว ๒.ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรม ๓.ลดหย่อนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ๔.ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยานและที่เก็บอากาศยาน ๕.ลดหย่อนค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานแห่งชาติ ๖.ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายการจัดประชุมสัมมนา อบรม และการจัดการท่องเที่ยวเป็นรางวัลในประเทศแก่พนักงานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ๗.การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ๑๓.โครงการประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในกรณีเกิดจลาจล ๑๔.การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ณ ประเทศลาว ๑๕.โครงการกีฬาสร้างความสามัคคีปวงชน สร้างคน สู้เศรษฐกิจไทย
ปลัดกีฬา กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี งบ2554 ว่าตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศให้มีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพ การแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางสำนักงานปลัดกระทรวงจึงได้กำหนดแผนงานโครงการตามกรอบภารกิจของหน่วยงาน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้เป็นกรอบทิศทางในการกระตุ้นและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนเพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำกลยุทธ์ไปแปลงเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนี้ ๑. พิจารณานำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤตการท่องเที่ยว และทบทวนมาตรการต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติ ว่ายังควรคงไว้หรือขยายระยะเวลาออกไปอีก รวมทั้งมาตรการอื่นๆ และข้อเสนอจากภาคเอกชน ๒. จัดทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ให้ได้ระดมความคิดเห็นแบบบูรณาการ เพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขวาง และครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวและเกิดความยั่งยืน รวมถึงเร่งรัดและสร้างศักยภาพในการหารายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ
๓. สนับสนุนการดำเนินงานสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาค และเป็นกำลังขับเคลื่อน ส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ ของส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้สอดคล้องเป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ ดังนั้น การให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ๔. ดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้ประโยชน์ของศูนย์ประชุมดังกล่าวเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด๕. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวและเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ เพื่อดึงดูดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ๖. ดำเนินการเกี่ยวกับความช่วยเหลือและความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการท่องเที่ยว กีฬา และนันทนาการตามกรอบความร่วมมือด้านต่างๆ ที่ได้มีข้อสัญญาผูกพันไว้ ๗. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นศูนย์กลางเพื่อสนับสนุนการบริหารงานของกระทรวง ๘. สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ๙. ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Medical Tourism Hub) อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ๑๐. พัฒนาความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน