ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขยายผลการดำเนินโครงการสถานีตำรวจปลอดบุหรี่ ระยะที่ ๔ โดยรณรงค์ให้สถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๕ จำนวน ๑๕๓ แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือคลอบคลุม ๘ จังหวัด จัดเขตปลอด โดยสนับสนุนป้าย “สถานีตำรวจเป็นเขตปลอดบุหรี่” ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากที่ได้สนับสนุนตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค ๗ ภาค ๑ ภาค ๒ ภาค ๓ และภาค ๔ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ข้าราชการตำรวจเป็นต้นแบบที่ดีให้กับประชาชน ในการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ และยังเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชกาตำรวจเลิกสูบบุหรี่ด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องทำให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งปลอดบุหรี่ ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
จากการวิจัย เรื่อง สถานการณ์การสูบบุหรี่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ของ พล.ต.ต.หญิง จันทนา วิธวาศิริ และคณะในปี ๒๕๕๑ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของตำรวจ เปรียบเทียบระหว่างหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๕ กลุ่ม คือ สำนักงานใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร ๙ ภาค ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยปฏิบัติภารกิจเฉพาะอื่น ๆ พบว่า ตำรวจภูธร ๙ ภาค มีอัตราการสูบบุหรี่มากเป็นอันดับ ๒ คือ ร้อยละ ๓๑.๙๘ (๓,๐๖๕ คน จาก ๙,๕๘๕ คนที่ตอบถาม) รองจากตำรวจนครบาลที่อัตราการสูบบุหรี่ เป็นร้อยละ ๓๓.๘๖ (๙๔๑ คน จาก ๒,๗๗๙ คนที่ตอบแบบสอบถาม)
พล.ต.ต.บุญมี สมสุข รอง ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๕ กล่าวว่า ขณะนี้กองบัญชาการตำรวจ ภาค๕ ได้ดำเนินการติดป้าย “สถานีตำรวจเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย” ให้กับสถานีตำรวจภูธร ภาค ๕ ทั้ง ๑๕๓ แห่ง เกือบครบ ๑๐๐% แล้ว และในฐานะผู้รักษากฎหมาย เราจะประสานงานกับองค์กรภาคีในพื้นที่ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๐ จังหวัดเชียงใหม่ ในการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายสถานที่ปลอดบุหรี่อย่างจริงจังต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.สมชาย มหาวันสุ ผู้รับผิดชอบโครงการสถานีตำรวจปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ขณะนี้เราได้ขยายการรณรงค์มาสู่ ตำรวจภูธร ภาค ๕ โดยครอบคลุมพื้นที่ ๘ จังหวัด ในภูมิภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งนอกจากการติดป้ายสถานีตำรวจแล้ว ก็จะมีการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของแต่ละแห่ง และการติดตามประเมินผลด้วย