นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด และเป็นสถาบันแรกของมนุษย์ที่ให้กำเนิดให้การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และปลูกฝังความคิดความเชื่อของสมาชิก ครอบครัว ส่งผลให้สังคมเข้มแข็งและส่งผลเชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ดังนั้น การส่งเสริม พัฒนาสถาบันครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กันอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ได้ข้อเสนอทางออก/ทางแก้ปัญหาครอบครัว หรือข้อเสนอของการส่งเสริม พัฒนาสถาบันครอบครัวที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมไทย อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว ซึ่งผลงานวิชาการด้านครอบครัวที่มาจากการศึกษาวิจัยทั้งเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ครอบครัวนั้น จะทำให้เกิดองค์ความรู้ ซึ่งจะเป็นข้อเสนอแนะอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครอบครัวและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานพัฒนาสังคม
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า โครงการประชุมวิชาการด้านครอบครัวนี้ จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยในปีนี้เป็นปีที่ ๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ ก.พ.๕๔ ในรูปแบบเวทีเสวนาเชิงวิชาการและนำเสนอผลการศึกษา หัวข้อ แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทยและการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๔๐๐ คน ประกอบด้วย ตัวแทนครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ตลอดจน ภาคีเครือข่ายและภาคีต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครอบครัวโดยตรง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงการส่งเสริมสุขภาวะครอบครัว และเกิดเครือข่ายนักพัฒนาครอบครัวที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นเครือข่ายหรือองค์กรทำงานวิชาการด้านครอบครัวต่อไป
นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า การจัดสวัสดิการและการพัฒนาครอบครัวที่ผ่านมาได้มีการพัฒนามาโดยตลอด จากการสังคมสงเคราะห์หรือการช่วยเหลือทางสังคม ในรูปของเงินและสิ่งของ การให้คำปรึกษาแนะนำ ต่อมาได้พัฒนาและขยายบริการสวัสดิการสังคมเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาและตอบสนองความจำเป็นของครอบครัวให้มากขึ้น ได้แก่ การจัดหาครอบครัวทดแทน การฝึกอาชีพ การจัดหางาน เงินทุนประกอบอาชีพ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ/คนพิการ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาครอบครัวไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง การรับฟังและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาสังคมจะเป็นการช่วยปลุกจิตสำนึกให้ทุกสถาบันตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว เกิดความเชื่อมโยงระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และชุมชนเป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น ภาคธุรกิจที่ยังเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ดังนั้น ในการสร้างสังคมสวัสดิการกับการพัฒนาครอบครัวไทยจึงควรดึงภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะองค์กรธุรกิจมีศักยภาพ มีความคล่องตัว และมีผลกำไรที่สามารถดำเนินการได้ โดยภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆต้องช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจ หันมาใส่ใจสังคมโดยเฉพาะด้านการพัฒนาครอบครัวให้มากขึ้น