สช.จับมือบีโอไอ เล็งคลอดหลักเกณฑ์สนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพ

ศุกร์ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ๑๖:๓๓
เมื่อ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะทำงานร่วม สช.-บีโอไอ ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงทิศทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสุขภาพให้สอดคล้องกับธรรมนูญระบบสุขภาพพ.ศ.2552 โดยมีผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมหารือ อาทิ นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และ นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักธรรมนูญสุขภาพและนโยบายสาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ทางเครือข่ายสุขภาพเสนอให้บีโอไอพิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพที่ต้องการการสนับสนุนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนส่วนมากไม่ได้ประสบปัญหาทางธุรกิจและมีศักยภาพในการลงทุนอยู่แล้ว หากมีการส่งเสริมเรื่องการลงทุนในด้านบริการสุขภาพโดยหน่วยงานภาครัฐอย่างบีโอไอ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวมอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่เป็นอยู่ขณะนี้ โดยพิจารณาควบคู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบีโอไอจะพบว่าบีโอไอมีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายของรัฐ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมสุขภาพนั้นมีธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งกำหนดอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มุ่งเน้นให้ระบบสุขภาพมีทิศทางไปสู่ธุรกิจ เมื่อมองถึงวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จะพบว่าเป็นการย้ายงานจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การส่งเสริมของบีโอไอในส่วนนี้จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ต้องมีการตกลงหลักการ และกรอบแนวทางร่วมเพื่อใช้ในการพิจารณาตัดสินใจส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพที่สอดคล้องงกับธรรมนูญฯ ซึ่งตามกรอบเดิมระบุให้ส่งเสริมกิจการโรงพยาบาลขนาด 50 เตียงขึ้นไป ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ และทางบีโอไอมีมติจะขยายประเภทกิจการในการสนับสนุนเพิ่มขึ้น 5 กิจการคือ 1.กิจการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล(เกินกว่า 30 เตียง) 2.กิจการเวชศาสตร์ฟื้นฟู 3.ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 4.ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ 5.กิจการ Logistic เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้มติดังกล่าวถูกระงับไว้

ในที่สุด ที่ประชุมมีข้อสรุปมอบให้ นักวิชาการจากทั้งสองฝ่าย นำโดย ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ร่วมกันยกร่าง หลักการ และกรอบแนวทางการพิจารณากิจการที่จะส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยจะกลับมาเสนอให้คณะทำงานร่วมให้ความเห็น ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงและผู้ทรงคุณวุฒิของทั้งสององค์กรอีกครั้ง จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานที่ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมการแพทย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคธุรกิจเอกชน และผู้บริโภค เป็นต้น แล้วจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่อไป โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 เดือน

ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ข้อเสนอจากการประชุมในวันนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้รับทราบเป็นการเบื้องต้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนข้อห่วงกังวลว่ามีสถานประกอบการที่ขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอไว้ก่อนหน้านี้แล้วจะดำเนินการอย่างไรนั้น ตรงส่วนนี้ทางบีโอไอก็จะดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน ซึ่งใน 10 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลขอรับการสนับสนุน 18 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงขึ้นไป 6 แห่ง และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงลงมาอีก 12 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ดังนั้นการชะลอเรื่องนี้ไปก่อนจะไม่กระทบต่อการลงทุนอย่างแน่นอน

ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307

เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-590-2307

ธนิษฐ์ สุคนธนิกร (ต๊ะ) 02-590-2483

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ