จี้เพิ่มสัดส่วนแรงงาน ปวช.ปวส.แก้วิกฤติขาดแคลน

จันทร์ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ๑๔:๓๘
เสนอปฎิรูปการศึกษารอบสอง เร่งยกระดับคุณภาพพื้นฐาน ปรับโครงสร้างแรงงานที่ “แหว่งกลาง” ผลิตสายวิชาชีพให้มาก เพิ่มสัดส่วนปวช.ปวส.ในตลาดแรงงาน เชื่อมผู้ประกอบการจัดหลักสูตรระยะสั้นเติมความรู้เฉพาะดึงคนรอยต่อจะเรียนหรือทำงาน รวมทั้งพวกว่างงาน/ทำงานต่ำชั่วโมงก็ต้องดึงกลับสู่ระบบการทำงาน แก้วิกฤติแรงงานขาดแคลน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในการประชุมประชาพิจารณ์ โครงการศึกษาความต้องการกำลังคนเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ แผนปฏิบัติการในระดับกลุ่มจังหวัด ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้จบการศึกษากับผู้ที่ตลาดแรงงานต้องการในแต่ละระดับการศึกษา โดยทำการศึกษา 8 กลุ่มจังหวัด คือ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนกลาง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง จังหวัดฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยงานดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ

จากการศึกษาพบว่า มีความไม่สอดคล้องกันอย่างมากของการผลิตผู้จบการศึกษาในพื้นที่โดยเฉพาะในระดับ ปวช.,ปวส.,อุดมศึกษา(ป.ตรี/โท) จำนวนมากเกินกว่าความต้องการในพื้นที่จะดูดซับเอาไว้ได้ คนในส่วนที่เกินนี้จึงต้องไปหางานนอกพื้นที่ มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่มีสาขาที่มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ แต่โดยทั่วไปแล้วมักพบว่า มีความต้องการมากกว่าคนที่ผลิตได้ จะเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานระดับมัธยมลงมา แต่ที่ผลิตเกินคือแรงงานสายช่าง ปวช. ปวส. ขึ้นไป ซึ่งมีการใช้น้อยในระดับกลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาต่ำ

สิ่งที่ขัดแย้งกันคือ หลายจังหวัดยังพบเห็นการขาดแคลนแรงงานระดับบนที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี แต่ในระดับปริญญาตรีนั้นมีมากเกินความต้องการ ในแต่ละปีจึงมีผู้ว่างงานในระดับนี้ 8-9 หมื่นคน สิ่งที่รัฐดำเนินนโยบายผลิตคนที่ผ่านมาจึงเป็นความไม่สอดคล้องกันทั้งในเชิงปริมาณและเมื่อออกสู่ตลาดแรงงานก็ยังไม่สอดคล้องกับที่ตลาดแรงงานมีความต้องการทั้งสาขาและจำนวน อีกทั้งยังมีปัญหาเชิงคุณภาพด้านสมรรถนะพื้นฐาน (Core Competencies)และระดับวิชาชีพ (Functional Competencies) ที่จำเป็นในการทำงาน

ทั้งนี้จากการประเมินคุณลักษณะพื้นฐานของแรงงานเป็นรายอาชีพ เช่น ช่างซ่อมแอร์ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรทั่วไป ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ พบว่า คุณลักษณะพื้นฐานที่พึ่งปรารถนาของแรงงานในเชิงคุณภาพที่นายจ้างทุกแห่งต้องการ คือ การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ไม่ก้าวร้าว มีมารยาท มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสำนึกที่ดี มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม และความสามารถในการปรับตัว แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนแรงงานช่างซ่อมบำรุงยังขาดอยู่มากคือ การมีจิตสำนึกในการบริการ การตรงต่อเวลา อดทน ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนข้อดีคือเรื่องความสุภาพอ่อนโยน การมีมารยาท แต่เรื่องอื่น ๆ ยังต้องปรับปรุงอีกมาก รวมทั้งทักษะการสื่อสาร ความรู้คอมพิวเตอร์และความรู้ภาษาอังกฤษ

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า คุณลักษณะพื้นฐานในสาขาช่างที่ปรากฏเป็นผลสืบเนื่องมาจากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับมาตลอดช่วงการศึกษาไม่ดีขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน ความไม่สอดคล้องนี้เป็นความผิดพลาดจากอดีตที่ไม่มีการส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานสายช่างในสถานประกอบการ โดยผู้ประกอบการนิยมจ้างแรงงานสายสามัญมากกว่า เนื่องจากหาง่ายและคิดว่าเอามาฝึกทักษะเพียงเล็กน้อยก็ทำงานได้แล้วและในระยะยาวจะไม่มีแรงกดดันด้านค่าจ้างเหมือนจ้างแรงงาน สายช่างซึ่งมีเรื่องค่าวิชาชีพ และในระยะยาวแรงงานสายช่างจะปรับเงินเดือนได้มากกว่าสายสามัญ 3-4 เท่า

“ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา เราปล่อยให้การเรียนการสอนระดับปวช.ตกต่ำมามากกว่า 15 ปี ขาดความใส่ใจอย่างจริงจังจากฝ่ายบริหาร การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมาเกือบจะไม่ได้ประโยชน์ในการที่จะเน้นไปที่คนเรียนในสายช่างเลย ตรงนี้นับเป็นความผิดพลาดอย่างมากในการดูแลเรื่องระบบการศึกษาของชาติ”

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากหวังให้ภาคการผลิตเติบโต และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ควรจะใช้คนที่มาจากสายวิชาชีพ แต่ปัจจุบันมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาจาการทำงานของคนที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้เมื่ออยู่ในภาคการผลิต(หรือโรงงาน)นานๆและในที่สุดต้องออกไปก็จะกลายไปเป็นคนธรรมดาแต่อาจจะมีประสบการณ์ติดตัวจากสายงานผลิตที่เคยทำมาในอดีตเท่านั้นซึ่งแทบจะไม่สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ ต่างจากคนในสายวิชาชีพที่สามารถพัฒนาทักษะวิชาชีพจากการทำงานและสามารถนำประสบการณ์ไปต่อยอดการดำเนินชีวิตในอนาคตได้ดีกว่า

“ตอนนี้เส้นกราฟโครงสร้างตลาดแรงงานที่เป็นอยู่มีลักษณะแหว่งกลาง คือ มีการใช้แรงงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่าสูงมาก รองลงมาคือมัธยมปลาย ส่วนตรงกลางซึ่งเว้าไปอยู่ฐานรากมีการใช้น้อยที่สุดคือ ปวช.,ปวส. จากนั้นก็ขยับขึ้นไปที่ปริญญาตรีปริญญาโทเลย ”

ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้แรงงาน ปวช.เพียง 3% หรือ ราว 1.25 ล้านคนจากจำนวนแรงงานระดับปวช.ปวส.ทั้งระบบ 7%หรือประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากและเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เป็นความผิดพลาดของประเทศ ที่ไม่ได้วางระบบให้มีการใช้คนสายช่างเป็นตัวนำในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งไม่มีการวางแผนระยะยาวว่าจะพัฒนาประเทศเติบโตไปทิศทางที่ต้องใช้คนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร และควรวางแผนด้านการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับอย่างไร ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงควรให้ความสนใจคนในสายวิชาชีพ(สายเทคโนโลยี) เพื่อปรับสัดส่วนโครงสร้างแรงงานและการศึกษาที่จะมีความสอดคล้องกันมีพลังในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอให้ข้อเสนอแนะว่า การลดช่องว่างเพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างแรงงาน การศึกษา อาชีพ ได้นั้นจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ยกระดับอุปทานให้สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคุณลักษณะพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสามารถส่งต่อให้ตลาดแรงงานได้สอดคล้องกับความต้องการและตัวแรงงานสามารถพัฒนาตนเองได้ด้วย โดยต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตกำลังคนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสถานศึกษาและผู้ประกอบการในตลาดแรงงาน

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานแต่ก็ยังมีคนที่อยู่นอกระบบทั้งกลุ่มว่างงานหรือทำงานต่ำชั่วโมงอีกเป็นจำนวนมาก เราต้องพยายามนำคนเหล่านี้กลับเข้ามาทำงาน หรือคนที่ยังไม่จบ ปวช.ปวส.อยู่รอยต่อระหว่างจะเรียนต่อหรือทำงานให้ได้ทุกคน วิธีที่เสนอคือการจับคู่ระหว่างสถานศึกษากับสถานประการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มเติมความรู้ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งเมื่อจบแล้วหากต้องการทำงานสถานประกอบการก็สามารถรับไปทำงานได้เลย

“แต่ละปีมีผู้จบปวช.ราว 4-5 หมื่นคน และบางจังหวัดมีถึง 5 พันคน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เมื่อจบปวช. อายุยังไม่ถึง 18 ปี เมื่อไม่ได้เรียนต่อปวส.ก็มักจะหลุดออกจากระบบไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ตอนนี้เราขาดแคลนแรงงาน และมีกำลังแรงงานถดถอยลง ยิ่งต่อไปจะมีคนสูงอายุมากกว่าวัยทำงาน เราต้องทำให้คนทุกคนที่เมื่อเรียนจบแล้วทำงานได้ สร้างประโยชน์ต่อไปได้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่งานวิจัยนี้เสนอคือ ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในทุกมิติต้องสัมพันธ์กับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงต้องเน้นความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการหรือผู้ใช้และต้องทำให้คนในแต่ละพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัดรู้ว่าที่เขาอยู่มีแหล่งงานอะไรรองรับอยู่ที่ไหนบ้าง หากทำให้แรงงานสามารถทำงานในพื้นที่ของตนเองได้ก็จะช่วยลดทอนปัญหาทางสังคมและปัญหาด้านอื่น ๆ ได้ด้วย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version