แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยในช่วงนี้ จะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีขึ้นอยู่ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากรัฐบาลได้มีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้ว ป้องกันระยะที่ 3” นั้น ยังคงพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ถึง 12 จังหวัด ได้แก่ กทม. ชลบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครปฐม อยุธยา เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี สกลนคร นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี และมีถึง 6 จังหวัดที่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ที่มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะร่วมมือกันในการปราบปรามการลักลอบการลำเลียงยาเสพติดตามแนวตะเข็บชายแดน จึงได้กำหนดให้มีการประชุมทวิภาคีฯ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว-ไทย ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีในการร่วมมือด้านปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนเพื่อรับรองรายงานผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา
พื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงนำเข้ายาเสพติดจากชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ หนองคาย เลย มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ยาเสพติดที่พบ คือ ยาบ้าและกัญชา นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของนักค้ายาเสพติดรายเก่าที่ถูกจับกุมหรือยุติบทบาทในช่วงของการประกาศสงครามกับยาเสพติดนั้น เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยมีการดำเนินการในลักษณะของเครือข่ายการค้าที่เชื่อมโยงกันหลายพื้นที่ บางกลุ่มมีนักโทษที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นผู้สั่งการ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศใช้แผนการเร่งรัดระยะ 3 เดือน ( มกราคม —มีนาคม 2554 ) พฤติกรรมนักค้ายาเสพติดในระยะหลังจึงมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น มีการพกพาอาวุธเพื่อเตรียมต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และยังมีผู้เสพติดเดิมผันตัวเองขึ้นมาเป็นนักค้ารายใหม่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย