นายตัน เล เยน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IFS เปิดเผยว่าสิ้นสุดปี 2553 ปริมาณการรับซื้อสิทธิเรียกร้อง (สินเชื่อแฟคเตอริ่ง) ของบริษัทขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ที่มีขนาดประมาณ 13,700 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการของ IFS ในรอบปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2553 มีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทฯปรับตัวดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศซึ่งฟื้นตัวในระดับที่ดี ทำให้ปริมาณการปล่อยสินเชื่อแฟคเตอริ่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ IFS ยังมีการปล่อยสินเชื่อลีสซิ่ง ประเภทสัญญาเช่าทางการเงิน และสินเชื่อเช่าซื้อ ที่สามารถเป็นแหล่งเงินสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจและมีการลงทุนในเครื่องจักร หรือยานพาหนะให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีกระแสตอบรับที่ดีในระดับที่น่าพอใจ สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งของผลงานที่เติบโตก็คือ การมีทีมงานที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอย่างยาวนาน นโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมและการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวโน้มของปี 2554 ซึ่งภาครัฐได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4 จึงทำให้ IFS มั่นใจว่าผลประกอบการในปีนี้ก็จะยังคงเติบโตตามการขยายตัวของ GDP ของประเทศ โดยคาดว่าปริมาณการรับซื้อสิทธิเรียกร้อง (สินเชื่อแฟคเตอริ่ง) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 ของปริมาณสินเชื่อในปี 2553 นอกจากนี้ IFS จะรุกตลาดที่เป็น Export Factoring มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ จะเห็นได้จากการขยายตัวของการส่งออกของประเทศอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของหลายๆประเทศจะมีปัญหา และในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ IFS ได้จับมือกับกลุ่ม International Factors Group จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้และนำเสนอสินเชื่อที่เหมาะสม ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก (Exporters) อีกด้วย
สินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อ ก็เป็นสินเชื่ออีกประเภทหนึ่งที่ IFS ได้ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยหลังจากที่ IFS นำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2553 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 IFS สามารถปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ได้แล้วกว่า 100 ล้านบาท สินเชื่อประเภทนี้จะมุ่งเน้นผู้ประกอบการที่ต้องการขยายกำลังการผลิต จึงมีความต้องการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆหรือผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มเป้าหมายเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม ยา กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ หรือ ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการบริการ เช่น บริษัทจัดหาแรงงาน รักษาความปลอดภัย บันเทิงและนันทนาการ เป็นต้น
นายตัน เล เยน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทฯมีความสนใจที่จะขยายขอบเขตของการทำธุรกิจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร และเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น “ผลประกอบการรอบปีที่ผ่านมาของ IFS ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ภายหลังจากที่ได้ระดมทุนโดยการขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2553 ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายธุรกิจมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็ด้วยเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าว บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธภาพ และในฐานะของผู้บริหารขอให้ผู้ถือหุ้นทุกท่านมั่นใจได้ว่าทีมงานของบริษัทฯพร้อมที่จะทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่และเดินหน้าผลักดันธุรกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสร้างผลตอบแทนและประโยชน์สูงสุดให้กับทั้งบริษัทฯและผู้ถือหุ้นต่อไป”
บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งซึ่งเป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ ที่สามารถนำลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายเชื่อมาขอสินเชื่อกับ IFS ได้ ทั้งผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าในประเทศและส่งออกเนื่องจาก IFS เป็นสมาชิกของ International Factors Group ซึ่งเป็นเครือข่ายแฟคเตอริ่งที่มีสมาชิกกว่า 152 บริษัท อยู่ในประเทศต่างๆมากกว่า 55 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมี สินเชื่อลีสซิ่งประเภทสัญญาเช่าทางการเงิน และสินเชื่อเช่าซื้อ ที่สามารถเป็นแหล่งเงินสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจและมีการลงทุนในเครื่องจักร หรือยานพาหนะ นอกจากนี้ IFS ยังมีสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าในทุกภาคธุรกิจที่มีความนต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนหรือเงินลงทุน เช่น อุตสาหกรรม พาณิชย์ หรือบริการ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม ยา กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ การบริการ เช่น จัดหางาน รักษาความปลอดภัย บันเทิงและนันทนาการ