นายสุริยัน ปานเพ็ง รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า TCELS ได้กำหนดให้การพัฒนาเครื่องมือแพทย์เป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งขององค์กร และได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์เมื่อปี 2552 ซึ่งจากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะจัดระบบพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทยได้ โดยการผนึกกำลังจากผู้มีส่วนได้เสีย 4 ฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคผู้ใช้เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้นั้นได้ใช้กลยุทธ์การจัดกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ และได้สร้างแผนที่นำทาง (Road map) ที่จะช่วยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทยให้เข้มแข็งและแข่งขันได้
ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ที่ปรึกษาของTCELSและในฐานะหัวหน้าโครงการคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เครื่องมือแพทย์มีหลากหลายชนิด และตลาดมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์เติบโตตามการขยายการให้บริการทางการแพทย์ ตามนโยบายสุขภาพถ้วนหน้า ประกอบกับนโยบายรัฐในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub of Asia) ส่งผลให้ประเทศไทยมีตลาดใหญ่เป็นลำดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนานำเข้าเครื่องมือแพทย์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ ประเภท ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย กระบอกฉีดยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับชุดตรวจโรค เช่น ชุดตรวจ HIV คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 15,000 ล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตและส่งออกสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์เพียงไม่กี่ประเภท แต่ปริมาณการใช้ค่อนข้างมาก ประกอบกับประเทศไทยมียางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ นี่คือ ความได้เปรียบของประเทศไทย
ศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า การจัดตั้งคลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ของไทย เพื่อลดการนำเข้าในอนาคตได้ สำหรับ Road map นั้น ได้มีการกำหนดแนวทางคือให้มีองค์กรเจ้าภาพคือ คณะกรรมการส่งเสริมเครื่องมือแพทย์ไทย และได้มีการศึกษากฎระเบียบส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ตลอดจนประสานงานกับหน่วยทดสอบและรับรองเครื่องมือแพทย์ สถาบันการศึกษาและการวิจัย เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ รวมถึงบริษัทเอกชนที่นำเข้าและส่งออกเครืองมือแพทย์ โรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ประเทศไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับการพัฒนาเครื่องมือแพทย์แต่ละประเภท นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึง การตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องแข่งขันได้ในตลาดโลก
ศ.ดร.มนตรี กล่าวด้วยว่า จากการเยี่ยมและหารือกับนักวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนหนวยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ คณะผู้ดำเนินโครงการนี้ได้คัดเลือกงานวิจัยมา 10 โครงการที่สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้คือ
1.GIS Call Center โดยใช้ระบบโทรศัทพ์พื้นฐานผลงานวิจัยของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
2. CephSmile V2.0 เป็นผลงานวิจัยซอฟท์แวร์เพื่อสุขภาพ ช่วยให้ทันตแพทย์ให้บริการจัดฟันและปรับรูปบริเวณช่องปากและใบหน้าโดยการจำลองภาพสามมิติ ผลงานวิจัยของ NECTEC ร่วมกับ อาจารย์ทันตแพทย์หลายสถาบัน
3. ยูนิตทันตกรรมเคลื่อนที่ ขนาดเล็ก ชิ้นส่วนถอดประกอบได้ง่าย เหมาะกับชุมชนห่างไกลในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ผลงานวิจัยของ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. รากฟันเทียม ฟันเทียมและวัสดุอุดฟัน ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยหลายสถาบัน ซึ่งต้องปรับสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์และการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ต่อไป เพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ
5. อุปกรณ์กระตุ้นจุดสะท้อนฝ่าเท้าจากกะลามะพร้าวเพื่อผู้ป่วยทางสมอง ผลงานประดิษฐ์ของ คณะสหเวศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในอนาคตจะพัฒนาโดยใช้วัสดุเซรามิกทดแทนกลามะพร้าวเพื่อการสงออกเนื่องจากอุตสาหกรรมประเภทนี้ไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงอยู่แล้ว
6. อุปกรณ์รองลดอาการปวดส้นเท้า จากยางพารา ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
7. เก้าอี้ปรับองศาสะโพกต่อประสิทธิผลการทำงานของรยางค์แขนในเด็กสมองพิการ ผลงานวิจัยของ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
8. เครื่องช่วยเดินและรถเข็นคนพิการ ผลงานวิจัยของนักวิจัยหลายสถาบัน
9. กางเกงผ้าอ้อมซักได้ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ
10, ชุดตรวจโรคต่าง ๆ ของนักวิจัยหลายสถาบัน
“ ในระยะที่ 3 และ 4 คาดว่าจะสามารถจัดกลุ่มคลัสเตอร์เครืองมือแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้น และจะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรม เพื่อส่งออกสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็สามารถลดการนำเข้าได้ปีละหลายพันล้านบาท” ศ.ดร. มนตรี กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6445499 tcels