นายธนัท สุวัธนเมธากุล ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ของกลางเหล่านี้ถูกส่งจากประเทศไนจีเรีย ผ่านเมืองโดฮา ประเทศการ์ต้า และเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยโดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG416 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 โดยผู้นำเข้าสำแดงสินค้าว่าเป็นข้อต่อ (Craftwork) ทั้งนี้ งาช้างและนอแรดเป็นสินค้าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 รวมทั้งต้องห้ามนำเข้าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) โดยของกลางทั้งหมดถูกนำส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชช่วยดูแลในระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุด
ผลงานครั้งนี้นำโดยกรมศุลกากร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้เพิ่มการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลในภูมิภาคแอฟริกาเพื่อตรวจสอบและสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงสัตว์ป่าจากแอฟริกาตะวันออกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยร่วมประชุมด้านงานสืบสวนกับเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามจากประเทศเคนย่าและหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจตามข้อตกลงลูซากา ณ กรุงเทพฯ โดยความสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีแลนด์ ร่วมกับ เครือข่ายปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน หรือที่เรียกว่าเครือข่ายอาเซียนเว็น (ASEAN Wildlife Enforcement Network: ASEAN-WEN) องค์กร U.S. Fish and Wildlife Service และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)
ทั้งนี้ การตรวจยึดงาช้างแอฟริกาครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งที่ 6 ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่หลังจากการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยเจ้าหน้าที่วางแผนจัดการประชุมติดตามผลในประเทศแอฟริกาเร็วๆนี้เพื่อหยุดยั้งขบวนการลักลอบค้างาช้างเถื่อนข้ามชาติ
สอบถามข้อมูลหรือต้องการรูปภาพเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มุกด์ มูลนิธิฟรีแลนด์ โทร 02 204 2719 - 21 หรืออีเมล์ [email protected]