นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงไก่ไข่กำลังประสบกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงถึงฟองละ 2.60 บาท แต่ราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.70 — 2.80 บาท ขณะที่เกษตรกรไม่สามารถปรับขึ้นราคา ได้เนื่องจากไข่ไก่ถูกจัดเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ไม่ต่างกับราคาน้ำมันปาล์มที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันจึงมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายรายที่ทำการปลดแม่ไก่ทิ้ง และเกษตรกรอีกหลายรายจำเป็นต้องเลิกกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนและภาวะขาดทุนได้
“ภาครัฐต้องยอมรับความจริงว่า ต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้น ไม่ใช่ต้นทุน 2.10 - 2.20 บาท อย่างที่ท่านมีตัวเลขอยู่ในมือ ต้นทุนเลี้ยงไก่วันนี้สูงถึง 2.60 บาท และมีแนวโน้มจะทะลุไปถึง 2.70 บาท จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นแทบทุกตัว อย่างข้าวโพดและกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนอย่างที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ เรื่องต้นทุนนี้ทางกรมปศุสัตว์รู้ดี การเข้ามาควบคุมราคาของภาครัฐ ยิ่งจะตอกย้ำให้ภาวะไข่ไก่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม เพราะเมื่อเกษตรกรขึ้นราคาไม่ได้ ในขณะที่ต้นทุนกลับพุ่งขึ้น ขณะที่ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่เสียหายทั้งระบบ ทั้งจากกรณีเปลือกไข่เปลี่ยนสี และปัญหาเปลือกที่บางทำให้แตกง่าย ซึ่งจำเป็นต้องคัดทิ้งไข่ไก่ดังกล่าวออกจากระบบทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันมีไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงมากถึง 20% หรือหายจากตลาดไปวันละ 4-5 ล้านฟอง จากเดิมมีปริมาณไข่ไก่ 28-29 ล้านฟองต่อวัน ลดลงเป็น 24-25 ล้านฟอง” นายมงคล กล่าวและว่า
ทั้งหมดนี้เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของเกษตรกรกร สุดท้ายเมื่ออยู่ไม่ได้ก็เลิกเลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มไก่ไข่ขนาดกลางและขนาดเล็กมีจำนวนมากถึง 80% เชื่อแน่ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ อีกไม่นานราคาไข่ไก่จะต้องสูงขึ้น ท้ายที่สุดผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคที่จะต้องซื้อไข่ไก่ในราคาแพง เพราะไข่ไก่ขาดตลาด
“วันนี้รัฐบาลต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่ขึ้นอยู่กับดีมานด์ซัพพลาย มีผลผลิตออกมาทุกวัน ราคาจะขึ้นลงตามสถานการณ์ ดังนั้น ควรจะปล่อยให้ราคาไข่ไก่เป็นไปตามกลไกตลาด ผมมองว่า วันนี้ถ้าไม่มีการควบคุมถึงอย่างไรราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มก็ไม่มีทางถึง 3 บาท อยู่แล้ว แต่ถ้าคุมราคาอยู่เช่นนี้มีแนวโน้มว่าอนาคตราคาอาจสูงขึ้นทะลุถึง 4 บาท/ฟอง หรืออาจถีบตัวขึ้นไปถึง 5 บาท/ฟองได้ ที่ต้องออกมาพูดวันนี้เพราะต้องการให้รัฐบาลรับรู้ปัญหาว่าเกษตรกรมีความเดือดร้อน และได้รับผลกระทบจริงๆ ” นายมงคลกล่าว