นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาคลัสเตอร์สิ่งทอในส่วนภูมิภาคนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ รวมระยะเวลากว่า 3 ปี โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่าย (Cluster) สิ่งทอ ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการที่นำมาปรับใช้และทำได้จริง ซึ่งเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอพื้นเมืองของแต่ละภูมิภาคได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่อยู่ในส่วนกลาง
สำหรับจังหวัดลพบุรีนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคเป้าหมายและมีผู้ประกอบการวิสาหกิจสิ่งทอที่มีฝีมือการทอผ้าที่ประณีตสวยงาม หากแต่ยังขาดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบลายผ้า รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ให้สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่นับวันจะมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นได้
นายทวี จันทร์สกุล อุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2554 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดลพบุรี พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในจังหวัดลพบุรีนั้นมีความพร้อมและโอกาสที่จะสามารถพัฒนาคลัสเตอร์สิ่งทอในจังหวัดให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ โดยตั้งเป้าเข้าพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวพร้อมผลักดันในเกิดการสร้างเครือข่าย สร้างแบรนด์สิ่งทอของจังหวัดลพบุรี และพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 30 กลุ่ม ในระยะเวลา 8 เดือน คือเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2554 และได้จัดสัมมนาเปิดตัว โครงการพัฒนาคลัสเตอร์สิ่งทอในส่วนภูมิภาค (ภาคกลาง) จังหวัดลพบุรี ขึ้นในวันนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ และผลที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ พร้อมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการและวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการภายในงาน
โดยผู้ประกอบการและวิสาหกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการใส่กลิ่นหอม การทำให้ผ้ามีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดลพบุรีที่อาจจะมีผ้าฝ้ายมัดหมี่กลิ่นหอมในอนาคต และการได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ในเครือข่ายสิ่งทอลพบุรี การศึกษาดูงานในคลัสเตอร์สิ่งทอที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการตลาด งานออกร้าน จัดแสดงผลิตภัณฑ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับผลงานภายใต้ โครงการพัฒนาคลัสเตอร์สิ่งทอ ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ลงพื้นที่พัฒนาหลายจังหวัดประกอบไปด้วย พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี พัฒนาจนรวมกลุ่มและสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ คลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม และพื้นที่ภูมิภาคได้เริ่มพัฒนาใน จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทั้งหมดได้มีการพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมืองขึ้นจังหวัดละ 1 คลัสเตอร์ พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของแต่ละกลุ่มออกจำหน่ายได้อย่างมีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอพื้นเมืองรวมไม่น้อยกว่า 10-20 %
หากผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนท่านใดสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณปาจรีย์ รชตเวศน์ ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 — 9 ต่อ 403 โทรสาร 0 2712 4526