สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีเปิดและ ลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร กับ 20 องค์กรชั้นนำ นับเป็นปีที่ 4 ของโครงการที่มุ่งมั่นพัฒนาสร้างนักส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ยังได้มีการเพิ่มกระบวนการสร้าง”ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มผลิตภาพ” (Productivity Specialist) อีกด้วย ซึ่งสถาบันได้รับเกียรติจากนายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดโครงการ ณ โรงแรม อมารี เอเทรี่ยม กรุงเทพฯ
นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการสร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร” เป็นโครงการที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการปรับโครงสร้างการผลิต และยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภาพสูงขึ้น และมีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการ ให้แก่ผู้บริหารระดับกลางในสถานประกอบการและสนับสนุนกิจกรรมสร้างเครือข่ายในภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานประกอบการ”
ดร. พานิช เหล่าศริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า “สถาบัน ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร ตั้งแต่ปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างบุคลากรหรือตัวคูณ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นแกนนำทีมในการเสริมสร้างทัศนคติ ถ่ายทอด ความรู้ ฝึกฝนทักษะ และสื่อสารกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานให้กับบุคลากรภายในองค์กร แทนการพึ่งพาที่ปรึกษาจากภายนอก ซึ่งในปีนี้ สถาบันได้คัดเลือกองค์กรจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และ อุตสาหกรรมอื่นๆ รวม 20 องค์กร จากองค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ โดยในปีนี้กิจกรรมสร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร แยกเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมสร้าง Productivity Facilitator จำนวน 16 องค์กร และในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีกิจกรรมสร้าง Productivity Specialist ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มผลิตภาพให้แก่องค์กรที่เคยเข้าร่วมโครงการและต้องการยกระดับการใช้เครื่องมือการเพิ่มผลิตภาพในการขยายขอบเขตการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้ผลลัพธ์สูงยิ่งขึ้น อีกจำนวน 4 องค์กร ”
“โครงการนี้จะประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแนะนำ โดยทีมวิทยากรที่ปรึกษาจากสถาบัน และหน่วยงานร่วม ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2. การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์รณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในรูปแบบต่างๆ และ 3. การจัดงานสัมมนาและนิทรรศการวิชาการ เพื่อเผยแพร่ผลงานและถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลงานการสร้างสรรค์สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อเพื่อการเรียนรู้ภายในองค์กร และการประกวดรางวัลผู้บริหารองค์กร นักส่งเสริม และทีมงานส่งเสริมดีเด่นอีกด้วย”
ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เผยถึงผลการดำเนินโครงการในปี 2553 ว่า “ผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผลการปรับปรุงและส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ ของทั้ง 20 องค์กร ดังนี้
- สามารถลดต้นทุน และมีโอกาสสร้างรายได้ปีละประมาณ 163 ล้าน 5 แสนบาท
- พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพในองค์กรอัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 98% จากจำนวนพนักงานในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 11,000 คน
- การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เฉลี่ยสูงถึง 85 %
- องค์กรมีแผนการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง 100 %
- พนักงานมีความพึงพอใจ ต่อผลการทำกิจกรรมเฉลี่ยสูงถึง 89 %
อีกทั้ง พนักงานยังเห็นคุณค่าของตนเอง เกิดความภูมิใจในความสำเร็จจากผลงานการมีส่วนร่วมในการปรับปรุง มีความรู้สึกผูกพันและรักองค์กรมากขึ้น เพราะได้รับการยอมรับยกย่องชมเชยจากการมีส่วนร่วมคิดร่วมปรับปรุง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ” ดร.พานิช กล่าว
นอกจากพิธีเปิดโครงการ และพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ยังมีการสัมมนา “บทบาทผู้นำองค์กรกับการเพิ่มผลิตภาพ” เพื่อให้ผู้บริหารขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการทราบถึงบทบาท กรอบระยะเวลาและกิจกรรมภายใต้โครงการ โดยมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทผู้บริหารกับการขับเคลื่อน Productivity อย่างยั่งยืน” โดย นายจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ พร้อมการบรรยายของหน่วยงานร่วมโครงการ ในหัวข้อ “Happy Money, Happy Organization, Happy Productivity” โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพหลักทรัพย์ และฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน และ หัวข้อ Happy Workplace เพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตคนทำงาน” โดย นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รายชื่อองค์กรที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในปีงบประมาณ 2554
โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร Productivity Facilitator”
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
- บริษัท ไทย อินโด คอร์ดซ่า จำกัด
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- บริษัท เอสอีดับบลิวเอส-คอมโพเน้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด
อุตสาหกรรมอาหาร
- บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด
- บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด
- บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด
อุตสาหกรรมอื่นๆ
- บริษัท กรุงไทยพลาสแทค จำกัด
- บริษัท คาร์เปทอินเตอร์แนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไชยเจริญการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำกัด
- บริษัท ซีเท็กซ์ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด
- บริษัท ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จำกัด
- บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด
- บริษัท รอแยลแคน อินดัสทรีส์ จำกัด
- บริษัท พิณ อินเตอร์วู้ด จำกัด
- บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด
- บริษัท สยามอุตสาหกรรมและการผลิต จำกัด
- บริษัท อุตสาหกรรมบางกอกทูลส์ จำกัด
โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร Productivity Specialist”
- บริษัท โปรดักส์ดีเวลลอปเมนท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด
- บริษัท ไทยซัมมิท มิทซูบะ อีเล็คทริค แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด
- บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด
- บริษัท ไทยซัมมิท อีเล็คทรอนิกส์ คอมโพเน้นท์ จำกัด