องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลฯ จัดอบรมพนักงานสอบสวนดึงผู้เชี่ยวชาญไทยปะทะแคนาดาให้ความรู้เรื่อง “ไอซีทีกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก”

พุธ ๐๒ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๕:๑๙
องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล (สำนักงานประเทศไทย) ร่วมกับโครงการเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิทธิและการพัฒนาเด็ก จัดอบรมในหัวข้อ "ไอซีทีกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก" โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ประสานงานป้องกันการแสวงประโยชน์จากเด็กแห่งชาติ กรมตำรวจของแคนาดา โดยมีพนักงานสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตบเท้าเข้าฟังเป็นจำนวนมาก

โลกไซเบอร์เปรียบดังโลกอีกใบที่ไร้พรมแดน และเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าใช้งานได้ ยิ่งในช่วงปีหลังๆที่อุปกรณ์ด้านไอทีมีราคาถูกลงจนไม่ว่าบุคคลใดหรือวัยใดก็สามารถหาซื้อเป็นเจ้าของได้โดยง่าย กอปรกับเครือข่ายสัญญาณที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเป็นทวีคูณ เป็นเหตุให้กลุ่มผู้หลอกลวงหรือผู้ที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศแฝงตัวอยู่ในโลกไซเบอร์กันมากขึ้น และกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้นเด็กและเยาวชน เนื่องจากวุฒิภาวะที่น้อย แต่ใช้งานอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารเฉลี่ยวันละหลายชั่วโมง

ดร.อิทธิพล ปรีติประสงค์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในการอบรมว่า “การเติบโตทางเทคโนโลยีและการสื่อสารมีผลกระทบหลักๆ ต่อเด็ก 3 ด้าน ได้แก่ 1. เนื้อหา ถ้าเด็กและเยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น สื่อลามกอนาจาร หรือความรุนแรง ย่อมส่งผลต่อการศึกษาและการเรียนรู้เชิงลบจากเนื้อหา 2. พฤติกรรมการใช้งาน จะพบว่ามีการใช้ไอซีทีที่สร้างผลกระทบเชิงลบทั้งต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพ เช่น การล่อลวงผ่านระบบแชต การหมิ่นประมาท การปลอมแปลงข้อมูล เป็นต้น และ 3. วัฒนธรรมการใช้ คือใช้มากน้อย มีประโยชน์หรือไม่ ถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมก็จะมีผลกระทบต่อผลการเรียนหรือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น”

เนื้อหาในการอบรมครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีของเยาวชนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ทั้งการคุกคามทางเพศและการล่อลวงอันเกิดจากโลกออนไลน์ แนวทางการป้องกันภัยดังกล่าว ไปจนถึงการศึกษาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการสืบสวนสอบสวน โดยในส่วนนี้ ดร.ฟิลลิป คุก ผู้อำนวยการบริหารสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิทธิและการพัฒนาเด็ก ประเทศแคนาดา ได้เป็นผู้ให้ความรู้แก่พนักงานสืบสวนของไทยในด้านต่างๆ เช่น การพิสูจน์ตัวผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด การสืบสวนหาพยานหลักฐาน รวมถึงเทคนิคในการสืบสวนสอบสวน เป็นต้น

ดร. ฟิลลิป คุก ผู้อำนวยบริหารสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิทธิและการพัฒนาเด็ก ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “IICRD และองค์การแพลน ร่วมกับตำรวจไทย-แคนาดา เล็งเห็นว่ายังมีบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผ่านสื่อออนไลน์ เราจึงตระหนักและให้ความสำคัญ โดยมุ่งหวังให้การอบรมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่ายในด้านการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน”

“ในขณะที่เด็กและเยาวชนต่างก็ใช้สื่อเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งเพื่อความรู้และความบันเทิง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กให้พ้นภัยจากสื่ออันตราย ดังนั้น ทั้งองค์กรเอกชน ประชาชน และตำรวจ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไข และส่งเสริมศักยภาพของตำรวจเพื่อให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดในด้านละเมิดสิทธิเด็กโดยใช้สื่อเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (สำนักงานประเทศไทย) กล่าว

ด้าน ดร.อิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ต้องยอมรับว่าประเทศไทยในฐานะผู้รับเทคโนโลยี ยังไม่มีมาตรการต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของแคนาดาซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานสูง และมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านนี้อย่างชัดเจน เช่น ศูนย์ประสานงานป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กแห่งชาติ (NCECC) รวมถึงกรมตำรวจของแคนาดาที่มีหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลสำหรับพนักงานสอบสวน หรือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กโดยใช้อินเทอร์เน็ต มากมายหลายหลักสูตร”

“ในบ้านเรา การจัดการกับปัญหาไอซีทีเหมือนไฟไหม้ฟาง จะมีการจัดการทันทีทันใดเมื่อสื่อนำเสนอ และหากหันกลับมามองวงการตำรวจไทยจะพบว่า หลักสูตรเฉพาะเพื่ออบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแทบจะไม่มีเลย จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยจะได้รับความรู้ ซึ่งจะทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ รวมรวมพยานหลักฐาน รวมถึงวางแผนรับมือกับสถานการณ์ปัญหาในอนาคตได้ การอบรมครั้งนี้เป็นเพียงก้าวเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายคนทำงานระหว่างไทยกับแคนาดา หลังจากนี้จะมีการอบรมและมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้รับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที”

เมื่อโลกไซเบอร์แทรกซึมสู่ทุกแง่มุมในชีวิตของเรา ด้านมืดของมันก็ส่งผลกระทบต่อสังคมรุนแรงและซับซ้อนขึ้นทุกที จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีด้านดิจิทัลเพื่อจะได้จัดการกับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ๆได้ และขณะเดียวกัน เมื่อโลกไซเบอร์เป็นโลกที่ไร้พรมแดน ตำรวจและภาคส่วนต่างๆของสังคมก็จะต้องจับมือกันเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามด้วยแนวคิด “ไร้พรมแดน” ดังเช่นการอบรมระหว่างผู้เชี่ยวชาญของไทยกับแคนาดาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO