นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กก. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามสัญญาจ้าง กิจการร่วมค้าอีเอ็มซีและเพาเวอร์ไลน์ ทำการก่อสร้าง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ มีสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 รวม 730 วัน ณ วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2554 ขณะนี้ผ่านไป 519 วัน คิดเป็น 71.10% บนเนื้อที่ 326 ไร่ วงเงินการก่อสร้างรวม 1,867,150,000 บาท มีค่าปรับวันละ 186,715 บาท แบ่งเป็นงานภายนอกอาคาร 457,451,750 บาท งานอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 1,112,821,400 บาท และงานสร้างศูนย์ส่งเสริมและกระจายสินค้าวิสาหกิจ 296,876,850 บาท โดยปัจจุบัน มีปรับปรุงรายชื่อคณะกรรมการตรวจรับการจ้างงานก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติใหม่ เนื่องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน และเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่การดำเนินงานใหม่ ดังนี้ นายสุพล ศรีพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายเสกสรร นาควงศ์ นายธงชัย ศรีดามา นายการุญ จันทรางศุ นายดรุณ แสงฉาย นายสมชัย ใหม่จันทร์แดง และนายวัฒนา ธรรมศิริ เป็นกรรมการและเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการตรวจและรับมอบงานควบคุมการก่อสร้าง มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ดังนี้ นายอานุภาพ เกษรสุวรรณ์ เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายนิวัฒน์ วชิรวราการ นายสมศักดิ์ คำปลิว นายเอกนรินทร์ จินทะวงศ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานก่อสร้างฯ ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2554 มีเป้าหมายการก่อสร้าง ตามแผนงานภาพรวม คือ 55.75% แต่ขณะนี้มีผลงานที่ทำได้ ภาพรวมประมาณ 47.77% ประกอบด้วยงานอาคารศูนย์ประชุมฯ ดำเนินการแล้ว 46.89 % งานศูนย์ส่งเสริมฯ ดำเนินการแล้ว 48.09 % และงานภายนอก ดำเนินการแล้ว 50.40 % ในภาพรวมงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานที่ตั้งไว้ 7.58 % ซึ่งจากการตรวจและติดตามงานก่อสร้างฯ พบว่าโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ จะต้องเตรียมงบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นอีก ในปีงบประมาณ 2555 จำนวนประมาณ 1,861 ล้านบาท ควบคู่ไปกับงานก่อสร้างอาคารหลัก ที่จะแล้วเสร็จในปลายปี 2554 ประกอบด้วยงานก่อสร้างถนนโดยรอบโครงการ ระบบงานโทรศัพท์ ระบบไฟฟ้านอกโครงการ ระบบประปา ระบบชลประทาน ระบบป้องกันน้ำท่วม งานก่อสร้างรั้วรอบโครงการ งานป้ายบอกทางเข้าสู่โครงการ งานครุภัณฑ์และวัสดุ งานบำรุงรักษา งานรักษาความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย งานการตลาดและงานบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล อันจะทำให้การก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างแท้จริง พร้อมสามารถใช้งานได้ในลักษณะนานาชาติ และมีความเป็นสากล ตลอดจนจะได้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติส่วนภูมิภาคแห่งแรกของรัฐบาลไทย ที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุด ในภูมิภาคอินโดจีน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า ณ เวลานี้ การก่อสร้างอาคารและพื้นที่ภาพรวม สามารถดำเนินการได้ค่อนข้างดี แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติม ในส่วนที่เป็นองค์ประกอบทั้งภายใน/ภายนอก ที่จะก่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบที่สุด ของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่า ณ เวลานี้งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมายพร้อมการบริหารจัดการและการตลาด โดยจะตั้งงบประมาณไว้ ในปี 2555 หากไม่เช่นนั้นศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ จะไม่สามารถเปิดดำเนินการได้อย่างเป็นทางการในปลายปี 2555 โดยจะตั้งคำของบประมาณจากการจัดตั้งคำของบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2555
ซึ่งมีภาพรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 38,285 ล้านบาท ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2,955 ล้านบาท กรมพลศึกษา 10,177 ล้านบาท กรมการท่องเที่ยว 3,169 ล้านบาท สถาบันการพลศึกษา 3,048 ล้านบาท การกีฬาแห่งประเทศไทย 9,119 ล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 8,333 ล้านบาท และกองทุนต่างๆด้านการท่องเที่ยวและกีฬา(กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ กีฬามวย พัฒนากีฬาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว) 1,488 ล้านบาท โดยกรอบแนวคิด(Conceptual Idea)ภาพรวมของปี 2555 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการตั้งงบประมาณปี 2555 เป็นผลจากการดำเนินงานปี 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย มีจำนวนเกินเป้าหมายจาก 14.5 ล้านเป็น 15.8 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2553 เกินเป้าหมายจาก 5.3 แสนล้านบาท เป็น 5.8 แสนล้านบาท คาดว่า ปี 2554 เป้าหมายจาก 15.5 ล้านคน น่าจะเป็น 16.5-16.6 ล้านคน และเป้าหมายรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2554 เป็นเงิน 6 แสนล้านบาท น่าจะเพิ่มเป็น 6.2-6.5 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 90-91ล้านคน/ครั้ง มีรายได้ราว 430,000-432,000 ล้านบาท ทั้งในปี 2553และปี 2554 จะมีการเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย ฉะนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวภาพรวม ในปี 2554 ของประเทศไทยในภาพรวม ควรจะต้องมากกว่า หนึ่งล้านล้านบาท หากไม่มีเหตุการณ์ความไม่ปกติทางการเมือง โรคระบาดรุนแรง หรือภัยพิบัติต่างๆที่เกิดกับประเทศไทยซ้ำซ้อนอีก
ทั้งนี้ยังไม่รวมภารกิจทางด้านการกีฬาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพกายและใจให้เข้มแข็ง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่างๆของเยาวชนและประชาชนคนไทย ตลอดจนการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และนำรายได้จากการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ/โลกเข้าสู่ประเทศไทยอีกจำนวนมหาศาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่รัฐบาล ควรต้องให้ความสำคัญด้านงบประมาณการดำเนินงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ให้แก่ภาคการท่องเที่ยวและกีฬาของชาติ ผ่านกระบวนการทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้ขอให้รัฐบาล พิจารณาจากรายได้และผลประโยชน์ เทียบกับการลงทุนจากรัฐบาลต่อภาคการท่องเที่ยวและกีฬาของชาติเป็นกรณีพิเศษด้วย