นายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านสวัสดิการสังคม แม้จะมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ยังขาดการบูรณาการประสานความร่วมมือกัน โดยเฉพาะในระดับชุมชน ที่ยังขาดการตระหนักในปัญหาและความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือและดูแล “กลุ่มผู้ด้อยโอกาส” ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะสถานะทางเศรษฐกิจ สภาวะสุขภาพและภาวะโรคเรื้อรังบางอย่าง พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม จนเป็นภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลอื่น และการไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือเข้าไม่ถึงสิทธิของการแสดงสถานะแห่งตน จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ ไม่ได้รับการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองสิทธิเท่าที่ควร และไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม และไม่สามารถดำรงตนอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม ในปี ๒๕๕๔ นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินภารกิจการพัฒนาสังคมเชิงพื้นที่ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาตำบลต้นแบบการพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมใน ๗๕ จังหวัด และบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ด้วยการมีศูนย์บริการทางสังคมแบบมีส่วนร่วม (ศาลาสร้างสุข) ศูนย์ ๓ วัย และศูนย์สายใยรัก เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส และเพิ่มช่องทางให้กับผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงสิทธิ ได้รับการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ทั้ง ๕ กลุ่ม คือ คนยากจน คนเร่ร่อน (ไร้บ้าน) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งครอบครัว ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และผู้พ้นโทษ
นายวุฒิกร กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างโอกาสอย่างเป็นธรรมให้กลุ่มด้อยโอกาส คนยากจน สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และผู้นำชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส โดยดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของสังคม จัดบริการและสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ที่คนในสังคมต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี ให้โอกาส มีการรวมกลุ่มคนในสังคม สร้างความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ.