ไทยมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารมากอันดับหนึ่ง

อังคาร ๐๘ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๐:๒๒
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ The Grant Thornton International Business Report (IBR) สำหรับปี 2011 ซึ่งเป็นการสำรวจทัศนคติของธุรกิจเอกชน (Privately Held Businesses: PHBs) รายไตรมาส เปิดเผยว่าทั่วโลกมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพียง 20% ซึ่งลดลงจาก 24% ในปี 2009 และเพิ่มขึ้นเพียง 1% จากปี 2004 นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังค้นพบว่าองค์กรเอกชนที่ไม่มีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มสูงขึ้นเป็น 38% จาก 35% ในปี 2009

จากการสำรวจทั่วโลก ประเทศไทยมีอัตราร้อยละของสตรีในตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุด (45%) ตามด้วยจอร์เจีย (40%) รัสเซีย (36%) ฮ่องกงและฟิลิปปินส์ (35% ทั้งสองประเทศ) ส่วนประเทศที่มีอัตราร้อยละต่ำสุดได้แก่ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่นซึ่งมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารน้อยกว่า 10%

อัจฉรา บุณยหรรษา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า: “วัฒนธรรมการทำงานในประเทศไทยให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่บุคลากรไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งในบริษัทส่วนใหญ่ที่มีนโยบายการกระจายอำนาจหน้าที่ในองค์กร ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้บุคลากรหญิงมีความมั่นใจได้ว่ามีโอกาสเท่าเทียมกับบุคลากรชายในงานที่ต้องใช้ความสามารถสูง อาทิเช่นได้รับมอบหมายให้ช่วยวางแผนโครงการหรือพลิกฟื้นผลประกอบการ รวมถึงได้บริหารงานที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ทั้งนี้สตรีที่อยู่ในตำแหน่งสูงจะรักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ และเชื่อมั่นว่าการทำงานอย่างทุ่มเทจะทำให้ประสบความสำเร็จ ผู้หญิงไทยไม่หวั่นต่องานที่ท้าทาย และจะเต็มที่กับทุกๆ งานอย่างสุดความสามารถ”

ผลสำรวจยังระบุว่าค่าเฉลี่ยสำหรับประเทศในกลุ่ม G7 อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพียง 16% ในขณะที่เอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) มีค่าเฉลี่ยสูงสุดซึ่งอยู่ที่ 27% ทั้งนี้ อัตราร้อยละของสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในประเทศไทย, ฮ่องกง, กรีซ, เบลเยียม และบอตสวานา ในอัตราอย่างน้อย 7% จากปี 2009

อัจฉรากล่าวเสริมว่า: “สถานภาพโสดหรือการมีครอบครัวช้าลงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สตรีชาวไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่ที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ สตรีที่สมรสแล้ว ก็สามารถแบ่งเวลาให้กับงานและชีวิตครอบครัวอย่างสมดุลย์กัน เนื่องจากสังคมครอบครัวของประเทศไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย จึงได้รับความช่วยเหลือจากญาติผู้ใหญ่ช่วยดูแลบุตร นอกจากนี้ บริษัทผู้ว่าจ้างยังมีบทบาทสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างสมดุลย์โดยนโยบายอาทิเช่น การให้ลางานระหว่างตั้งครรภ์หรือเพื่อการคลอดบุตร มีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นได้ การกระจายงาน การทำงานนอกเวลา และการลดภาระหน้าที่ ล้วนช่วยให้บุคลากรหญิงสามารถบริหารจัดการเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตครอบครัวให้เหมาะสมที่สุดได้โดยยังคงรักษามาตรฐานในการทำงาน และในบางบริษัท มีการรับประกันเป็นรายบุคคลว่าจะรักษาตำแหน่งหน้าที่ไว้ให้ พร้อมกับยังคงสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพและอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานจากบ้านได้”

ตำแหน่งหน้าที่ของสตรี

จากบริษัททั่วโลกที่ว่าจ้างสตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงนั้น จำนวน 22% ว่าจ้างในตำแหน่งหน้าที่ทางการเงิน (อาทิ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงินหรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer/Finance Director) ตามด้วยฝ่ายทรัพยากรบุคคล (20%), ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด (Chief Marketing Officer) และผู้อำนวยการฝ่ายการขาย (Sales Director) (9% ทั้งสองตำแหน่ง)

เปรียบเทียบทั่วโลก มีเพียง 8% ของบริษัทที่มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เป็นเพศหญิง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศเศรษฐกิจแถบเอเชียมีปริมาณที่แตกต่างออกไป โดยในประเทศไทย

มีบริษัทที่มี CEO เพศหญิงถึง 30% ตามด้วยจีน (19%), ไต้หวัน (18%) และเวียดนาม (16%)

หมายเหตุ

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) นำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 11,000 ธุรกิจจาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มามาจัดทำแนวโน้มข้อมูลซึ่งรวมถึง 19 ปีจากหลายประเทศในยุโรป และ 9 ปีจากหลายประเทศนอกเหนือทวีปยุโรป

การเก็บข้อมูล

การสำรวจนั้นจัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น (จัดทำผ่านทางไปรษณีย์), ฟิลิปปินส์และอาร์เมเนีย (จัดสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว), จีนและอินเดีย (ใช้ทั้งวิธีตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์) เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเข้าถึงผู้ร่วมการสำรวจ

ทั้งนี้ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ช่วยให้แกรนท์ ธอร์นตัน สามารถจัดทำการสัมภาษณ์ได้ตามจำนวนครั้งที่ตั้งไว้ และมั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรที่อยู่ในเกณฑ์การสำรวจที่กำหนดไว้

การเก็บข้อมูลนั้น บริหารจัดการโดยบริษัทวิจัยที่มีชื่อว่า Experian Business Strategies ซึ่งจัดทำการแปลแบบสอบถามเป็นภาษาของแต่ละประเทศ โดยนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ การสำรวจในหัวข้อผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารนี้จัดทำขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2011 รวมจำนวนผู้ถูกสัมภาษณ์ทั่วโลก 9,000 ราย

กลุ่มตัวอย่าง

IBR เป็นการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจกว่า 11,000 รายในแต่ละปี โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส (ชื่อตำแหน่งนั้นอาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ) จาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจ ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิต (25%), การบริการ (25%), ค้าปลีก (15%) และการก่อสร้าง (10%) โดยอีก 25% เป็นการสำรวจในอุตสาหกรรมอื่นๆ

กลุ่มตัวอย่างในทุกประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่มาจากอุตสาหกรรมข้างต้นที่กล่าวมา แต่ในบางประเทศก็จะมีการนำเสนอข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปโดยมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ทั้งนี้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างต้องมีมากเพียงพอด้วย

เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย

แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและมองหาโอกาสในการขยายกิจการ

ทั้งนี้ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ครอบคลุมถึง การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกองค์กร การให้คำปรึกษาทางภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ งานด้านกฏหมายและการสืบสวน การบริหารความเสี่ยง การประเมินราคาทรัพย์สินสุทธิทางการเงินและภาษีก่อนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ความช่วยเหลือด้านการโอนเงิน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การแนะกลยุทธ์ให้บริษัทในการออกจากธุรกิจเพื่อถอนทุนคืน การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร การเตรียมการเพื่อถ่ายโอนกิจการ และการพิจารณาผลตอบแทน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กรุณาค้นหาที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อ

ลักษณ์พิไล วรทรัพย์

ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร

แกรนท์ ธอร์นตัน

โทร: 02 205 8142

อีเมล์: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ