"ไทยมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารมากอันดับหนึ่ง แม้ค่าเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจากปี 2004"

อังคาร ๐๘ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๒:๐๔
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ The Grant Thornton International Business Report (IBR) สำหรับปี 2011ซึ่งเป็นการสำรวจทัศนคติของธุรกิจเอกชน (Privately Held Businesses: PHBs) รายไตรมาส เปิดเผยว่าทั่วโลกมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพียง 20% ซึ่งลดลงจาก 24% ในปี 2009 และเพิ่มขึ้นเพียง 1% จากปี 2004 นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังค้นพบว่าองค์กรเอกชนที่ไม่มีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มสูงขึ้นเป็น 38% จาก 35% ในปี 2009

จากการสำรวจทั่วโลก ประเทศไทยมีอัตราร้อยละของสตรีในตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุด (45%) ตามด้วยจอร์เจีย (40%) รัสเซีย (36%) ฮ่องกงและฟิลิปปินส์ (35% ทั้งสองประเทศ) ส่วนประเทศที่มีอัตราร้อยละต่ำสุดได้แก่ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่นซึ่งมีสตรีในตำแหน่งผู้บริหารน้อยกว่า 10%

อัจฉรา บุณยหรรษา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า: “วัฒนธรรมการทำงานในประเทศไทยให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่บุคลากรไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งในบริษัทส่วนใหญ่ที่มีนโยบายการกระจายอำนาจหน้าที่ในองค์กร ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้บุคลากรหญิงมีความมั่นใจได้ว่ามีโอกาสเท่าเทียมกับบุคลากรชายในงานที่ต้องใช้ความสามารถสูง อาทิเช่นได้รับมอบหมายให้ช่วยวางแผนโครงการหรือพลิกฟื้นผลประกอบการ รวมถึงได้บริหารงานที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ทั้งนี้สตรีที่อยู่ในตำแหน่งสูงจะรักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ และเชื่อมั่นว่าการทำงานอย่างทุ่มเทจะทำให้ประสบความสำเร็จ

ผู้หญิงไทยไม่หวั่นต่องานที่ท้าทาย และจะเต็มที่กับทุกๆ งานอย่างสุดความสามารถ”

ผลสำรวจยังระบุว่าค่าเฉลี่ยสำหรับประเทศในกลุ่ม G7 อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยมีสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพียง 16% ในขณะที่เอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) มีค่าเฉลี่ยสูงสุดซึ่งอยู่ที่ 27% ทั้งนี้ อัตราร้อยละของสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในประเทศไทย, ฮ่องกง, กรีซ, เบลเยียม และบอตสวานา ในอัตราอย่างน้อย 7% จากปี 2009

อัจฉรากล่าวเสริมว่า: “สถานภาพโสดหรือการมีครอบครัวช้าลงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สตรีชาวไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่ที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ สตรีที่สมรสแล้ว ก็สามารถแบ่งเวลาให้กับงานและชีวิตครอบครัวอย่างสมดุลย์กัน เนื่องจากสังคมครอบครัวของประเทศไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย จึงได้รับความช่วยเหลือจากญาติผู้ใหญ่ช่วยดูแลบุตร นอกจากนี้ บริษัทผู้ว่าจ้างยังมีบทบาทสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างสมดุลย์โดยนโยบายอาทิเช่น

การให้ลางานระหว่างตั้งครรภ์หรือเพื่อการคลอดบุตร มีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นได้ การกระจายงาน การทำงานนอกเวลา และการลดภาระหน้าที่ ล้วนช่วยให้บุคลากรหญิงสามารถบริหารจัดการเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตครอบครัวให้เหมาะสมที่สุดได้โดยยังคงรักษามาตรฐานในการทำงาน และในบางบริษัท มีการรับประกันเป็นรายบุคคลว่าจะรักษาตำแหน่งหน้าที่ไว้ให้ พร้อมกับยังคงสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพและอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานจากบ้านได้”

ตำแหน่งหน้าที่ของสตรี

จากบริษัททั่วโลกที่ว่าจ้างสตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงนั้น จำนวน 22% ว่าจ้างในตำแหน่งหน้าที่ทางการเงิน (อาทิ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงินหรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer/Finance Director) ตามด้วยฝ่ายทรัพยากรบุคคล (20%), ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด (Chief Marketing Officer) และผู้อำนวยการฝ่ายการขาย (Sales Director) (9% ทั้งสองตำแหน่ง)

เปรียบเทียบทั่วโลก มีเพียง 8% ของบริษัทที่มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เป็นเพศหญิง อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศเศรษฐกิจแถบเอเชียมีปริมาณที่แตกต่างออกไป โดยในประเทศไทย มีบริษัทที่มี CEO เพศหญิงถึง 30% ตามด้วยจีน (19%), ไต้หวัน (18%) และเวียดนาม (16%)

หมายเหตุ

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business

Report (IBR) นำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 11,000 ธุรกิจจาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มามาจัดทำแนวโน้มข้อมูล

ซึ่งรวมถึง 19 ปีจากหลายประเทศในยุโรป และ 9 ปีจากหลายประเทศนอกเหนือทวีปยุโรป การเก็บข้อมูลการสำรวจนั้นจัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น (จัดทำผ่านทางไปรษณีย์), ฟิลิปปินส์และอาร์เมเนีย (จัดสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว), จีนและอินเดีย (ใช้ทั้งวิธีตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์) เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเข้าถึงผู้ร่วมการสำรวจ ทั้งนี้ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ช่วยให้แกรนท์ ธอร์นตัน สามารถจัดทำการสัมภาษณ์ได้ตามจำนวนครั้งที่ตั้งไว้ และมั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรที่อยู่ในเกณฑ์การสำรวจที่กำหนดไว้

การเก็บข้อมูลนั้น บริหารจัดการโดยบริษัทวิจัยที่มีชื่อว่า Experian Business Strategies ซึ่งจัดทำการแปลแบบสอบถามเป็นภาษาของแต่ละประเทศ โดยนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ การสำรวจในหัวข้อผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารนี้จัดทำขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2011 รวมจำนวนผู้ถูกสัมภาษณ์ทั่วโลก 9,000 ราย

กลุ่มตัวอย่างMETHODOLOGY

IBR เป็นการสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของ นักธุรกิจกว่า 11,000 รายในแต่ละปี โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส (ชื่อตำแหน่งนั้นอาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ) จาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจ ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิต (25%), การบริการ (25%), ค้าปลีก (15%) และการก่อสร้าง (10%) โดยอีก 25% เป็นการสำรวจในอุตสาหกรรมอื่นๆ

กลุ่มตัวอย่างในทุกประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่มาจากอุตสาหกรรมข้างต้นที่กล่าวมา แต่ในบางประเทศก็จะมีการนำเสนอข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปโดยมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ทั้งนี้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างต้องมีมากเพียงพอด้วย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อ

ลักษณ์พิไล วรทรัพย์

ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร

แกรนท์ ธอร์นตัน

โทร: 02 205 8142

อีเมล์: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version