นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า “การผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ เป็นนโยบายและแผนงานที่รัฐบาล และเอกชนให้การผลักดันและสนับสนุนร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการเมืองในประเทศ ส่งผลให้
ทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่า “อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ” เป็นเสมือนเสาหลักให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยที่จะยังคงมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ผนวกกับข้อสรุปร่วมกันกับภาคเอกชนจากการจัดทำโรดแมปอุตสาหกรรมไมซ์ฉบับแรก กระทั่งเป็นไวท์ เปเปอร์ หรือสมุดปกขาวอุตสาหกรรมไมซ์ ที่เป็นเจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ก็เห็นควรไปในทิศทางเดียวกัน สสปน. จึงเร่งดำเนินการสานต่อโครงการเดิมจาก “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” เพื่อสร้างการรับรู้และความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย มาเป็นโครงการกระตุ้นการตลาดเต็มรูปแบบในปีนี้ คือ โครงการ “ประชุมเมืองไทย Domestic MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” พร้อมปรับโครงสร้างบุคลากรจัดตั้ง “ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ” เพื่อดำเนินโครงการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศครบวงจร”
โครงการ “ประชุมเมืองไทย Domestic MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” ประกอบไปด้วยกิจกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศครบวงจร ตั้งแต่ กลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกกันว่า D-MICE โดยย่อมาจาก Domestic MICE ซึ่งเน้นแนวคิดหลักเพื่อการ “กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ” อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการ “ยกระดับและขับเคลื่อน D-MICE” โดยจากการศึกษากลุ่มเป้าหมายภายในประเทศผนวกกับนโยบายของรัฐบาลและการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกัน จึงนำมาสู่การวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม MIC (กลุ่มการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการประชุมนานาชาติ) เน้นการวางแนวทางส่งเสริมการตลาดการประชุมในประเทศเป็น 6 แนวทาง ได้แก่ การสร้างทีมเวิร์คผ่านประสบการณ์ที่ท้าทาย (Team Building) การสร้างการเรียนรู้และความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (History and Culture) การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ (Productivity)
การตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green) การตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และการได้สัมผัสกับความพิเศษ (Luxury) ส่วนในด้านกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม E (กลุ่มงานแสดงสินค้า) เน้นการวางแนวทางส่งเสริมการตลาดงานแสดงสินค้าชูจุดเด่นตามภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยลำดับความสำคัญจากอันดับปริมาณการค้าและการส่งออกของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อัญมณี สิ่งทอ สัตว์เลี้ยง และเซรามิก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังผนวกกับการศึกษาความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่สนับสนุนการจัดงาน และความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ของผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินงานกลยุทธ์ทางการตลาด D-MICE จะดำเนินการควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการจัดงานในนครแห่งไมซ์ (MICE Cities) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศทุกด้าน
นอกจากการชู กลยุทธ์ทางการตลาด D-MICE ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการ “ประชุมเมืองไทย Domestic MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” กิจกรรมการส่งเสริมไมซ์ในประเทศทุกกิจกรรมจะดำเนินภายใต้โครงการนี้อย่างครบวงจร ได้แก่ กิจกรรมเชิญลูกค้ากลุ่มองค์กรสัมผัสศักยภาพความพร้อมอุตสาหกรรมไมซ์ (Familiarization Trip) กิจกรรมงานแสดงสินค้าภายในประเทศ (Domestic Exhibition) กิจกรรมสนับสนุนงานประชุมสัมมนาภายในประเทศ (Support) และกิจกรรมการสื่อสารและการให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ (Education and Promotion) ผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง อาทิ การสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านรายการเข้าใจไมซ์ ทุกวันอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์ สีกองทัพบกช่อง 5 ในรายการสมุดโคจร เวลา 21.30-21.55 น. และผ่านทางเว็บไซต์ www.meetinthailand.com ตลอดจนสื่อออนไลน์ ได้แก่ tweeter.com/meetinthailand และ facebook.com/meetinthailand ประชุมเมืองไทยไดเร็คทอรีที่รวบรวมสถานที่ที่สามารถจัดการประชุมสัมมนาในประเทศไทย รวมถึงสายด่วน Call Center 02-5307111 ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ และเกิดการมีส่วนร่วมโดยหันมาร่วมแรงร่วมใจกันเดินทางและประชุมในประเทศมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กิจกรรมแรกในปีนี้ คือ การจัดงาน “ครีเอทีฟ ไมซ์ ประชุมเมืองไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์” ที่เป็นโครงการต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เพื่อจุดประกายความคิดพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักธุรกิจต่างชาติ ในการจัดประชุมและนิทรรศการในรูปแบบใหม่ ๆ ในประเทศไทย สร้างความตื่นตัวในการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจไมซ์ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของรัฐบาล และด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ จึงได้ขยายผลโครงการจากตลาดต่างประเทศมายังในประเทศด้วย โดยในปีนี้
สสปน. ขยายการดำเนินงานวางยุทธศาสตร์ปูพรมทางความคิด รุกทุกภูมิภาคเสริมสร้างธุรกิจไมซ์ให้เข้มแข็งครอบคลุมทั่วประเทศไปยังภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 2 ภูมิภาคใน 3 จังหวัด ได้แก่
ภาคอีสานตอนบนในจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสานตอนล่างในจังหวัดขอนแก่น รวมถึงภาคเหนือตอนล่างในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจาก 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 300 คน โดยการสื่อสารภายใต้โครงการ จะสามารถเข้าถึงประชาชนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์โดยเน้นกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จัดงาน และภูมิภาคใกล้เคียงเป็นหลัก โดยจะเริ่มจากการจัดงานในจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก ในวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม ณศาลาอาคารจตุรมุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 12.00-16.00 น.
นายอรรคพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากผลการวิจัยศึกษาพบว่า ในปี 2553 มีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 2 ล้านคน สร้างรายได้สู่ประเทศคิดเป็นมูลค่า 13,500 ล้านบาท ทั้งนี้จากการดำเนินกิจกรรมโครงการ “ประชุมเมืองไทย Domestic MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” เพื่อส่งเสริมไมซ์ในประเทศอย่างครบวงจรด้วยการใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาทในปี 2554 นี้ คาดว่าจะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศเติบโตได้กว่า 30 % ภายในสิ้นปี โดยคาดว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,500 ล้านบาท”
โครงการ “ประชุมเมืองไทย Domestic MICE มั่นใจเมืองไทยพร้อม” จะเปิดตัวแถลงรายละเอียดโครงการครั้งแรกให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสมาคมและหน่วยงานการศึกษาทั่วประเทศในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.
คุณปาริฉัตร เศวตเสรณี ผู้จัดการอาวุโส โทรศัพท์ 02-94-6092 อีเมลล์ [email protected]
คุณอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6095 อีเมลล์ [email protected]