นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ ไม่พร้อมในวัยรุ่น นับเป็นปัญหาทางสังคมที่น่าเป็นห่วงและต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยพบเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี มีการตั้งครรภ์และคลอดบุตรเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงร้อยละ ๑๓.๕๕ จากมาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ ๑๐.๕๕ และในประเทศไทยมีแม่วัยเยาว์อายุ ๑๕-๑๙ ปี มากเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียและอันดับสองของโลก โดยกลุ่มเสี่ยงหนึ่งก็คือ “เด็กเร่ร่อน” ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมทางเพศ คือ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ถูกทอดทิ้ง ขาดพื้นฐานความรักจากครอบครัว รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ประกอบกับต้องใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการและการเรียนรู้ทางเพศศึกษาอย่างไม่เหมาะสม และในทางจิตวิทยาพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในสภาพของการขาดรัก (Inadequacy) จึงต้องการสร้างความผูกพันกับทุกคนที่มีโอกาสใกล้ชิด และอยู่ในวังวนของการมีพฤติกรรม “เสี่ยง ซิ่ง กล้า สนุก” ทางเพศ โดยองค์กรเครือข่ายเพื่อเด็กเร่ร่อนคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นไป จะมีเด็กเร่ร่อนทั้งเด็กไทย เด็กต่างด้าว หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย จำนวนกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเด็กเร่ร่อนจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เกิดเป็นปัญหาการทำแท้ง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทอดทิ้งและการเปลี่ยนคู่อย่างอิสระ จนนำไปสู่การเกิดสภาพแม่วัยเยาว์ที่ยังขาดวุฒิภาวะในการปกป้องดูแลตนเอง
นางนภา กล่าวต่อว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจและกระบวนการให้คำปรึกษาเรื่องเพศ และการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะอย่างมาก เนื่องจากเด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง เปราะบาง และยั่วยุให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงปราถนาอยู่ตลอดเวลา การจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กเร่ร่อนฯ นี้ จึงถือเป็นการตอบสนองนโยบายของชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของเด็กเร่ร่อน และเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศศึกษา และสภาพปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของเด็กเร่ร่อนและเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และฝึกทักษะกระบวนการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเป้าหมายต่อไป การอบรม ในครั้งนี้ เป็นการอบรมรุ่นที่ ๑ ประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรเด็กเร่ร่อน องค์กรภาครัฐ ๕๙ องค์กร จำนวน ๕๙ คน องค์กรภาคเอกชน ๑๖ องค์กร จำนวน ๓๘ คน องค์กรส่วนท้องถิ่น ๒๑ องค์กร จำนวน ๓๒ คน รวมทั้งสิ้น ๙๖ องค์กร ๑๒๘ คน นอกจากการบรรยายให้ความรู้แล้ว ยังมีการฝึกปฏิบัติการให้คำแนะนำปรึกษาแก่เด็กเร่ร่อนและเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ๔ กลุ่ม คือ ๑.เด็กที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางเพศ ๒.เด็กที่ติดเชื้อ HIV ๓. เด็กที่เคยผ่านประสบการณ์และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงทางเพศ และ ๔.เด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
ทั้งนี้ จะจัดให้มีการอบรมทั้งหมด ๒ รุ่น คือรุ่นที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ และรุ่นที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ