นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาในโลกปัจจุบัน นอกจากจะมีการแข่งขันด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม พ.ศ. 2553-2557 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative and Green) และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาสร้างคุณค่า มีนวัตกรรมและเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตสินค้าโดยการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมต่อสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการวิจัยเพื่อการผลิตสีเขียวและการผลิตที่สะอาด โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาเซียนภายในปี 2560
จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเครือข่ายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco label) ของสหภาพยุโรป” โดยจัดทำข้อมูลในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จำนวน 18 โรงงาน
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลกมีการแข่งขันสูงนอกจากเรื่องคุณภาพและราคาแล้ว ประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ ประกอบกับความต้องการสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสิ่งทอรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการใช้ฉลากแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การแปรรูป กระบวนการผลิตการขนส่งไปยังร้านค้าปลีก การใช้ และการกำจัดขั้นสุดท้าย ซึ่งฉลากนี้สามารถติดบนผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ แผ่นพับ รวมทั้งการตรวจข้อมูล ณ จุดขาย หรือบนเว็บไซด์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งความต้องการของผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจำเป็นต้องปรับตัวโดยการจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ซื้อ
สถาบันฯ จึงได้จัดงานสัมมนา Thailand Green Textile Network ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเครือข่ายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label) ของสหภาพยุโรป ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้กับเครือข่ายผู้ผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งทอสีเขียวในประเทศ และตัวแทนจากบริษัทผู้ซื้อ ผู้ค้าปลีกสินค้าสิ่งทอรายใหญ่จากต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือสีเขียว
โดยได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดสายโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ พัฒนาและจัดทำข้อมูลในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จำนวน 18 โรงงาน จนประสบผลสำเร็จและได้จัดให้มีพิธีมอบใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในวันนี้ (10 มี.ค.54) จำนวน 16 โรงงาน (รายชื่อดังเอกสารแนบ) ส่วนอีก 2 โรงงานนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับใบรับรองฯ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2554
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยนั้น ได้รับใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้วเป็นจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ เมื่อรวมกับครั้งนี้อีก 28 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับฉลากดังกล่าวมากที่สุดในประเทศ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย
ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ/ข้อมูล
โทร. 0 2713 5492 — 9 ต่อ 546?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2713 5492 - 9 prthaitextile