นางธนิฏฐา (รป.กก.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น นับจาก การเกิดแผ่นดินไหว การเกิดสินามิ และเกิดการระเบิดของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับอันตรายจากสารพิษดังกล่าว และปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้มีนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร้องเรียนกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นจำนวนมากมาย ทั้งนี้ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้นมา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลและพิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจากการประชุมจะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาเที่ยวยังประเทศไทยในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ ยังคงเป็นปกติ ในระยะนี้ แต่ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ได้มีการขอยกเลิกการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเกือบจะ 100 % คาดว่าจะมีความต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2554 โดยจากเหตุการณ์ 6 วันที่ผ่านมา เกิดปัญหาการขอคืนเงินของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับบริษัททัวร์ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้บริษัททัวร์ เกือบทั้งหมดได้ให้ความร่วมมือทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและนักท่องเที่ยว ในการคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยว เกือบ 100 % อาจจะมีบางบริษัททัวร์หักค่าใช้จ่ายประมาณ 5-10% ไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริง ในการมัดจำหรือค่าวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น จากนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการออมชอมร่วมกัน และได้รับความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ได้เป็นผู้นำและได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการคืนหรือเลื่อนตั๋วเดินทางในโซนญี่ปุ่นให้แก่นักท่องเที่ยว จนถึง 30 เมษายน 2554 โดยไม่มีเงื่อนไขใด อีกทั้งเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องทางเมืองไทยซื้อตั๋วเครื่องบินให้แก่ผู้ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมเดินทางขึ้นเครื่องกลับประเทศไทยได้ทันที ในส่วนของสายการบินอื่นๆ และตลาดโรงแรม คาดว่าจะมีแนวทางดำเนินการเช่นเดียวกับสายการบินแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงไม่มีเจตนา และนโยบายที่จะบังคับใช้กฎหมายตามพรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 12 (3) โดยขาดมนุษยธรรม หรือจริยธรรม ในการบังคับใช้ ในช่วงเวลานี้ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวต้องการยกเลิกการเดินทางก่อน 30 วัน บริษัททัวร์จะต้องคืนค่าใช้จ่ายให้ 100% แต่ในกรณีนี้ นับเป็นมิติที่ดี ที่เป็นการสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดผลดีในภาพรวมของการท่องเที่ยวของประเทศไทย และญี่ปุ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวได้รับความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันผ่านกฎของสังคม ไม่ใช่กฏหมาย และเป็นการเจรจาด้วยเหตุและผล ที่สามารถพิสูจน์ได้
นางธนิฏฐา (รป.กก.) กล่าวปิดท้ายว่า ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวนประมาณ 1 ล้านคนต่อปี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 มีอัตราเติบโตกว่า 7 % เฉลี่ยเดือนละ 200,000 - 250,000 คน แต่ในอนาคตต่อไปคาดว่าตัวเลขน่าจะลดลงกว่า 30% อย่างต่อเนื่องอันเนื่องจากเหตุการณ์อันเศร้าสลดของประเทศญี่ปุ่น อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว ในแง่การตลาดประเทศไทย จำเป็นจะต้องหาตลาดสำรองในโซนเอเชีย ไม่ว่าเกาหลี จีน และอินเดีย ทดแทนตลาดญี่ปุ่น แต่ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าตลาดการท่องเที่ยวลักษณะลองสเตย์ ( Long Stay) จากประเทศญี่ปุ่น จะสร้างกระแสบวกขึ้นทดแทนในระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่าทางการเงิน(Value of Money) มีอากาศที่อบอุ่น และมีสีสัน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวชาวไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือร้องเรียนเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว โทร.02 2140133 หรือ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว โทร.1155 หรือ ศูนย์อำนวยการและบริการนักท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โทร. 02 3560650 ต่อไป