ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “Stable”

อังคาร ๒๒ มีนาคม ๒๐๑๑ ๐๘:๓๕
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ

“A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” โดยบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย DBS Vickers Securities Holdings Pte., Ltd. (DBSVSH) ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มธนาคารดีบีเอสในประเทศสิงคโปร์ อันดับเครดิตของบริษัทมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตโดยเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและอื่น ๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและทรัพยากรของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความไม่แน่นอนของธุรกิจหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่กลับมาเพิ่มขึ้นและการมีผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่าน โดยทริสเรทติ้งจะติดตามสถานะทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัทอย่างใกล้ชิดหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เต็มรูปแบบในปี 2555 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิง

กลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อีกทั้งจะยังมีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอส และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจอื่น ๆ สนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน ในช่วงปี 2544-2553 บริษัทมีรายได้หลักจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 86% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากบริการอื่นมีสัดส่วนประมาณ 10% ในปี 2553 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.5% รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจลดลงอย่างมาก โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการลดลงเหลือเพียง 6 ล้านบาทในปี 2553 จากที่เคยได้รับประมาณ 29 ล้านบาทในปี 2551 และ 9 ล้านบาทในปี 2552 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังมีรายได้จากธุรกรรมในส่วนนี้ไม่มาก สำหรับกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นคาดว่าจะมีสัดส่วนที่น้อยมากเนื่องจากบริษัทได้หยุดธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์มาระยะหนึ่งแล้ว

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% และปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 เป็น 2.61% จาก 2% ในปี 2552 สถานะทางการตลาดของบริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 17 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 35 ราย เพิ่มจากอันดับที่ 21 เมื่อปี 2552 หากบรรยากาศการลงทุนเอื้ออำนวยต่อกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ บริษัทก็น่าจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้เนื่องจากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกลุ่มธนาคารดีบีเอส ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายจากลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36%-50% ของมูลค่าการซื้อขายต่อปีของบริษัท ในปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการคิดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดเช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นเนื่องจากอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงนั้นได้รับการชดเชยในสัดส่วนที่มากกว่าจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 60% ในปี 2553 โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันของทั้งตลาดหลักทรัพย์รวมกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นวันละ 29.07 พันล้านบาทในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 32.17 พันล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 จากเดิมวันละ 16.12 พันล้านบาทในปี 2551 และ 18.23 พันล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นอันอาจทำให้รายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง

กำไรสุทธิของบริษัทค่อย ๆ ลดลงจาก 209 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 172 ล้านบาทในปี 2549 และ 132 ล้านบาทในปี 2550 สืบเนื่องจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในปี 2551 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 22 ล้านบาท

เนื่องจากประสบผลขาดทุนจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2552 จำนวน 34.13 ล้านบาท และ 79.02 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนที่ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจำเป็นต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมหากมูลค่าตามราคาตลาดของหลักประกันยังคงลดลง โดยในปี 2552 และ 2553 มีการตั้งสำรองไว้แล้วคิดเป็นมูลค่า 519 ล้านบาท และ 563 ล้านบาท ตามลำดับ บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ระหว่าง 1.6-1.9 พันล้านบาทในช่วงปี 2548-2552 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 เนื่องจากมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างในปี 2553 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 875 ล้านบาท จากเดิมที่ระดับ 554 ล้านบาทในปี 2551 จากการมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36.4% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2553 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายจะขยายสินเชื่อดังกล่าวในระยะกลางเมื่อมีโอกาส การขยายสินเชื่อควบคู่กับมาตรการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นน่าจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรจากธุรกรรมนี้ได้

บริษัทมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำจากการลงทุน โดยมีเพียงการลงทุนสมทบในหุ้นสามัญจำนวน 9 ล้านบาทเพื่อการจัดตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนภาคบังคับสำหรับสถาบันการเงิน โดยในขณะนั้นบริษัทยังคงมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 บริษัทใช้วงเงินกู้ไปประมาณ 0.04% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.5 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการกู้ยืมบริษัทแม่ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ด้อยสิทธิมูลค่าประมาณ 8 ล้านเหรียญสิงค์โปร์และเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 5 ล้านเหรียญสิงค์โปร์ บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนการลงนามในสัญญาเงินกู้ด้อยสิทธิวงเงิน 17 ล้านเหรียญสิงค์โปร์เพิ่มเติมจากบริษัทแม่เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์และข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแล โดยบริษัทยังคงมีทุนที่เพียงพอสำหรับการประกอบธุรกิจแม้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลงจาก 1.007 พันล้านบาทในปี 2552 เหลือ 879 ล้านบาทในปี 2553 ก็ตาม บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule) ณ เดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 59.23% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่) จาก Negative (ลบ)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version