ด้านนายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการสัมมนา “FTA กับอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ณ โรงแรม ดิ เอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสของตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกัน และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สมดุลนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันและดำรงอยู่ได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ติดตามสถานะความคืบหน้า ผลกระทบและการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ ในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) 2.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) 3.ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 4.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และ 5.โครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) รวมถึงความตกลงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2553 ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และยังได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ทำการศึกษากลยุทธ์การจัดทำและพัฒนาสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและ ให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาสินค้าสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัญหามลภาวะ ทั้งทางน้ำ ดิน เสียง อากาศ และภาวะโลกร้อนรวมถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์และผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงโอกาสในการปรับตัวเพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที และเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น
นางสุทธินีย์ ยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า ผู้ประกอบการในไทยทั้งภาคส่งออกและภาคนำเข้ายังคงพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จาก FTA เดิมเป็นหลัก สำหรับ FTA ใหม่ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายการผลิตหรือใช้วัตถุดิบจากประเทศภาคี มีโอกาสในการใช้ประโยชน์มากขึ้นจากการผ่อนคลายความเข้มงวดของเกณฑ์การพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าพบว่า ยังมีการใช้ประโยชน์ในระดับที่น้อยมาก โดยภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA เดิม 5 ฉบับ รวมเป็นมูลค่า 50,533 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.19 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศภาคี FTA เหล่านี้ โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 14,521 ล้านบาท ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (34,986 ล้านบาท) ตามมาด้วยความตกลง TAFTA (5,191 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกไทยยังเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้ไม่เต็มที่ 100% กล่าวคือ ผู้ส่งออกยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ 41,391 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละสาขาใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่กว่า 3,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ 26,620 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.72 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศภาคี FTA เหล่านี้ โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 10,103 ล้านบาท ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (14,078 ล้านบาท) ตามมาด้วยความตกลง ACFTA (6,695 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ภาคนำเข้าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ถึง 15,039 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละสาขาใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่กว่า 1,000 ล้านบาท
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังออกระเบียบและกฎเกณฑ์มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) เพื่อกีดกันการค้ามากขึ้น โดยประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่กล่าวถึงอยู่มาก เช่น การออกระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่ ปี 2545 ได้แก่ ELV 1 , WEEE 2 , RoHS 3 , Eup4 และ REACH5 รวมถึงการบังคับใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยในฐานะคู่ค้ากับสหภาพยุโรป จะต้องรับทราบข้อมูลและสามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม โดยได้ออกหลักเกณฑ์และเว็บไซต์เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้แก่ ฉลากเขียว (Green Label) , ฉลากคาร์บอน (Carbon Reduction Label) , ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 , ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น ที่ผ่านมา สินค้าไทยได้มีการพัฒนาให้ผ่านกฎเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้ได้รับ Eco Label และสร้างตลาดสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศ และยังวางเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่ Sustainable Industry และขยายวงกว้างการผลิตและบริโภคสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมไปสู่ระดับภูมิภาค ASEAN เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA และก้าวไกลไปสู่ตลาดโลกได้อย่างสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่