นายพาโชค พงษ์พานิช (Mr.Pacholk Pongpanich) นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า “คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงพันธุ์พืช และลดการจูงใจให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา ไทยมีโอกาสที่จะเสียความเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชในเอเชียแปซิฟิค และผู้นำส่งออกผลิตผลเกษตร ในฐานะของประเทศผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรที่มีการแข่งขันกันอย่างมากในตลาดโลก พันธุ์พืชคุณภาพดีจะมีส่วนเป็นอย่างมากในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพผลผลิต ถ้าเราไม่ส่งเสริมงานพัฒนาพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้าเราจะสูญเสียความเป็นผู้นำและตลาดไป เพราะพันธุ์พืชไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังตามที่ควรเป็นในฐานะของประเทศเกษตรกรรม ตัวอย่างจากหลายพืชที่พื้นที่ปลูกลดลง เช่นฝ้าย หรือถั่วเหลือง ซึ่งเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอดีต แต่เกษตรกรมีภาระต้นทุนสูงไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้ต้องนำเข้า โดยเฉพาะฝ้ายที่อาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรเลิกปลูกกันไปแล้ว เนื่องจากขาดพันธุ์ที่เหมาะสม อันเนื่องจากไม่สามารถวิจัยและพัฒนาพันธุ์ได้ตรงต่อความต้องการของเกษตรกร ภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณงานวิจัยเพิ่มขึ้นอีก และปรับปรุงกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ให้สอดคล้องและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งนานาประเทศทั่วโลกถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทย
นอกจากนี้ ตลาดโลกและผู้บริโภค วันนี้เปลี่ยนไป มีความต้องการสินค้าและผลิตผลเกษตรที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ควบคู่ไปกับมีต้นทุนดี มีราคาที่แข่งขันได้ ดังที่ปัญหาในตลาดการเกษตรที่เรากำลังเผชิญอยู่ กรณีตลาดอียู แบนการนำเข้าพืชผักจากประเทศไทยเพราะมีปริมาณสารตกค้างเกินค่า MRL ( Maximum Residue Limit) และการรุกตลาดข้าวของคู่แข่ง คำตอบและทางออกคือ เราต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีเกษตรในพืชเศรษฐกิจ ในจุดที่ยังด้อยกว่าประเทศคู่แข่ง 1.แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่องานวิจัยพัฒนา 2.เร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์ขั้นสูง ที่เรายังล้าหลังมาก เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yields) และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต ลดต้นทุน หรือสนองตอบความต้องการของตลาด 3.เผยแพร่เทคโนโลยีสู่เกษตรกร ลดการสูญเสียของผลิตผลจากศัตรูพืช และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม 4.พัฒนาองค์รวมของการบริหารจัดการคุณภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการเกษตร ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นต้นธารของผลผลิตเกษตรและคุณภาพอาหาร — การเตรียมเพาะปลูก — การเพาะปลูก- ดูแลบำรุงพืช- เก็บเกี่ยว จนถึงโรงสี การจัดเก็บ การบรรจุ การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์คงคุณภาพที่ดีและมีมาตรฐานความปลอดภัย “
นายชวาลา วงศ์ใหญ่ (Mr.Chawala Wongyai) กรรมการบริหาร สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า “ คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ไม่ส่งเสริมงานวิจัยพัฒนา แล้วเราจะเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้อย่างไร ? เมล็ดพันธุ์มีมูลค่าเศรษฐกิจทั้งตลาดในประเทศและส่งออกรวมประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดกว่าครึ่ง คือ เมล็ดพันธุ์พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด รองลงมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผัก การส่งออกปี 2553 มูลค่า 3,133 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต การที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชีย (Seed Hub of Asia) จะเป็นจริงได้เราจะต้องมีฐานงานวิจัยที่ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและเข้มแข็งพร้อมที่จะรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจการเกษตรของโลกที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งด้วยงานวิจัยนวัตกรรมทางการเกษตร หากรัฐบาลไทยไม่ส่งเสริมและกฎหมายยังเป็นอุปสรรคกีดกันงานวิจัยแล้ว ภาคเอกชนก็จะขาดแรงสนับสนุน และไม่กล้าลงทุนกับงานวิจัย ซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาล และระยะเวลาอันยาวนาน การที่ไทยจะก้าวเป็นผู้นำฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้ ประกอบด้วย 1.การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เมล็ดพันธุ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง 2.พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล 3.การพัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน 4.มีเครื่องหมายการค้าเป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่โดยคำจำกัดความ “พันธ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” แต่ในทางปฏิบัติเรามีการรับเมล็ดพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาปลูกและปรับปรุงในประเทศไทย เพื่อใช้หรือเพื่อส่งออก ก็เท่ากับว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะกลายเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยทันที ซึ่งนานาประเทศคงจะยอมรับไม่ได้ เปรียบกับเวลาที่เรานำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ไม่เห็นถือว่าพวกเขาเป็นคนไทยได้เลย “
นายวินิจ ชวนใช้ (Mr.Vinich Chuanchai) เลขาธิการสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า “คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 อุปสรรคงานวิจัยและนวัตกรรม...หนึ่งเดียวสากลแบบไทย ๆ เนื้อหาของพระราชบัญญัติคุ้มครอง 2542 นั้นถือได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และไม่เหมาะกับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และทุกฝ่ายตั้งแต่ เกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ การค้าการลงทุน รวมไปถึงผลเสียหายที่จะมีต่อความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศไทย นั่นคือ การกำหนดเพิ่มประเภทของ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” กำหนดขอบเขตของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป กินความหมายที่กว้างครอบคลุมพันธุ์พืช 3 กลุ่ม คือ 1.พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ 2.พันธุ์พืชที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย 3.ให้หมายความรวมถึงพันธุ์พืชอะไรก็ตามที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า หมายถึงว่า เหมารวมพืชพันธุ์อะไรก็ตามที่มาเจอหรือมาโผล่อยู่ในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งในหลักสากลไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้
เนื่องจากงานทั้ง 3 ส่วน คือ งานอนุรักษ์พันธุ์พืช การแบ่งปันผลประโยชน์ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ต่างมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงควรให้แยกกฎหมายออกจากกันคำจำกัดความของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ครอบคลุมไปถึงพันธุ์พืชที่อยู่ในครอบครองของบุคคลทั่วไป ซึ่งหมายถึงพันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกได้ในประเทศไทย นับว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่วงการปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ไม่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้ประชาชน หรือผู้ที่อยากเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชได้มีโอกาสทำงานพัฒนาค้นหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ เนื่องจากต้องเสียสิทธิในพันธุ์พืชที่ตนเองได้พัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้กระบวนการขอขึ้นทะเบียนยังเป็นอุปสรรคต่องานวิจัยและการแข่งขันทางการค้าอีกด้วย ซึ่งผลเสียจะตกกับเกษตรกรในท้ายที่สุดจากการที่มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงพันธุ์พืชคุณภาพดี “
ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต (Dr.Nipon Iamsupasit) กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย (Seed Association of Thailand) กล่าวว่า ผลกระทบของ คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” กับงานวิชาการด้านเมล็ดพันธุ์ ทำให้การเกษตรของไทยถูกกำหนดให้อยู่ในมุมแคบ และถูกจำกัดด้วยคำจำกัดความที่ว่า การวิจัยต่าง ๆ ไม่สามารถทำการวิจัยได้อย่างเสรี ไม่สามารถต่อยอดการพัฒนาเมล็ดสายพันธุ์พืชได้ ทำให้การศึกษาทดลองลดน้อยและตกต่ำลงไป เพียงแค่ไม่กี่สายพันธุ์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทยอย่างมหาศาลทั้งปัจจุบันและอนาคต เราจะสูญเสียโอกาสและศักยภาพของการพัฒนาการเกษตร และต้องจ่ายแพงในการซื้อพืชผล และเทคโนโลยีการเกษตรจากประเทศอื่น เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง เป็นต้น
คุณมนตรี คงแดง (Mr.Montree Kongdang) อุปนายก สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของ คำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ว่า “งานวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชมาตรา 52 ได้ถูกระบุ “ผู้ใด” หรือใครก็ตามที่เก็บ จัดหา หรือปรับปรุง “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” จะต้อง 1.ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.ต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์โดยให้ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง การปรับปรุงสายพันธุ์พัฒนาให้มีคุณสมบัติตามต้องการจำเป็นต้องนำเข้าพันธุ์พืชจากต่างประเทศ ในมาตรา 52 ของกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดให้ “ผู้ใด” หรือใครก็ตามที่จะเก็บ จัดหา หรือปรับปรุง “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ต้องทำสองอย่างก่อน คือ 1.ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.ต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยให้ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ยกตัวอย่างเช่น หากใครปลูก ถั่วฝักยาว หรือมะเขืออยู่หลังบ้าน แล้วมีการคัดเลือกหรือนำมาปรับปรุงพันธุ์หรือทดลองอะไรก็ตาม ต่อมาได้พันธุ์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และไม่ได้ทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ ถือว่าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนักปรับปรุงพันธุ์พืชและนักวิทยาศาสตร์ของไทยเกิดความกลัวความเสียหายจะเกิดขึ้นกับภาพรวมของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และการเกษตรของประเทศไทย ไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้ หากมีอุปสรรคและโทษอาญาที่ฟุ่มเฟือยไม่เหมาะสม นักปรับปรุงพันธุ์และนักวิจัยของไทย คงจะต้องอยู่ในมุมมืดต่อไป และอาจทำให้สมองไหล นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทยต้องไปทำงานในประเทศอื่นๆ “
คุณวนิดา อังศุพันธุ์ (Mrs.Vanida Angsuphan) กรรมการบริหาร สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าว ถึงผลเสียหายที่จะเกิดกับประเทศไทย ว่า “แทนที่เราจะรอให้ความเสียหายเกิดขึ้นกับประเทศไทย ภาครัฐและภาคเอกชนควรที่จะจับมือร่วมกันขจัดอุปสรรค เพื่อนำพาเมล็ดพันธุ์อันเป็นต้นน้ำของการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ยืนอยู่ได้ และสร้างคุณภาพมูลค่าเพิ่มให้พืชผลการเกษตรของไทยซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่าการเก็บค่าแบ่งปันผลประโยชน์อีกมากมายหลายเท่าตัวนัก อีกทั้งยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศเกษตรกรรมยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก้าวสู่การเป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพและฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพ “
PR AGENCY : BRAINASIA COMMUNICATION
Tel. 02-911-3282 (5 Auto Lines) Fax 02-911-3208
Email: [email protected]