โดย นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์
คลังจังหวัดสระแก้ว
จากการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่และข้อเท็จจริงต่าง ๆ เห็นว่าไม่มีผลกระทบเชิงลบ (โดยเฉพาะชายแดนด้านจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด) ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้
1. ทั้ง 2 ประเทศมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญร่วมกัน
ประเทศไทย มีมูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดสระแก้ว ปี 2553 รวม 32,727 ล้านบาท ส่งออก 28,987 ล้านบาท นำเข้า 3,740 ได้ดุล 25,247 ล้านบาท
ประเทศกัมพูชา มีมูลค่าส่งออกมาไทย 3,740 ล้านบาท ประชากรเข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือวันละไม่น้อยกว่า 2,000 คน และส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงานด้านการเกษตร (ช่วงฤดูกาลเกษตร)
2. ผู้นำระดับท้องถิ่น คือ จังหวัดสระแก้วและบันเตียเมียนเจย มีการพบปะและประสานงานกันอยู่เสมอทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหารและตำรวจ จึงมีความเข้าใจต่อกันอย่างดีในสถานการณ์ต่าง ๆ และจะถือประโยชน์และวิถีคนชายแดนเป็นสำคัญ
3. ประชาชนชายแดนมีความรักสามัคคีและมีความคิดความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีผู้นำ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ที่มีวิสัยทัศน์ สร้างคนสระแก้วให้มีความรักและช่วยเหลือกัน นำพาจังหวัดไปสู่ความร่มเย็น สุข สงบ และสมานฉันท์ ไม่มีสีแดง สีเหลือง หรือสีใด ๆ มีสีเดียว คือ ศรีสระแก้ว โดยข้าราชการต้องเป็น ผู้ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
4. เป็นประตูสู่อินโดจีน / เป็นศูนย์กลางการคมนาคม จังหวัดสระแก้วมีเส้นทางคมนาคม 3 เส้นทาง
4.1 ทางบก
กรุงเทพฯ สระแก้ว ระยะทางประมาณ 230 กม. สามารถเดินทางไปอีสานใต้ กัมพูชา เวียดนาม (โฮจิมินห์)
แหลมฉบัง สระแก้ว อีสานใต้ กัมพูชา เวียดนาม (โฮจิมินห์) อำเภออรัญประเทศ ปอยเปต พนมเปญ ระยะทางประมาณ 150 กม. เส้นทางเป็นถนนลาดยาง ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชม. มีความสะดวก รวดเร็ว
4.2 ระบบราง : จากกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว อรัญประเทศ กัมพูชา
4.3 ทางอากาศ : สามารถพัฒนาสนามบินวัฒนานคร ซึ่งเป็นสนามบินของทหารอากาศ เป็นสนามบินเพื่อการพาณิชย์ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นสามารถพูดได้ว่าจากสถานการณ์ระหว่างไทย - กัมพูชา ที่เกิดเมื่อประมาณปลายปี 2553 ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางลบ โดยมีข้อมูลสนับสนุน ดังนี้
สถิติมูลค่าการค้าชายแดนไทย — กัมพูชา ปี 2549 — 2553
1. ด้านจังหวัดสระแก้ว เพิ่มขึ้นทุกปี (ยกเว้นปี 2552) โดยเฉพาะช่วง มกราคม — กุมภาพันธ์ 2554 เพิ่มขึ้นกว่า 25 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553
2. การค้ารวม 5 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ และอุบลราชธานี ก็มีทิศทางการขยายตัวไปในทำนองเดียวกัน
สถิติชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ณ บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ด่าน ตม. อรัญประเทศ
ช่วง มกราคม — กุมภาพันธ์ 2554 = 71,439 คน
ช่วง มกราคม — กุมภาพันธ์ 2553 = 64,721 คน
เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.38 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2553 กับปี 2554
สถิติคนไทยและต่างชาติเดินทางออกไปกัมพูชา
ช่วง มกราคม — กุมภาพันธ์ 2554 = 147,098 คน
ช่วง มกราคม — กุมภาพันธ์ 2553 = 107,323 คน
เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.06 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2553 กับปี 2554
- จำนวนร้านค้าที่มีผู้มาเช่าค้าขาย ประมาณ 4,000 ร้านค้า ยังดำเนินกิจการอยู่ โดยผู้ค้าที่มาเช่าและขายเป็นชาวกัมพูชาประมาณ 90% และเป็นคนไทยประมาณ 10%
- สินค้าที่นำมาขายมีทั้งสินค้ามือสองจากต่างประเทศ
- สินค้าใหม่นำเข้าจากจีน
- สินค้าใหม่จากแหล่งผลิตต่าง ๆ ในประเทศไทย
- ชาวกัมพูชานิยมซื้อสินค้าไทยที่เป็นสินค้าใหม่ โดยเฉพาะผู้มีฐานะดีนิยมซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าของไทย
แนวโน้มเศรษฐกิจสระแก้วปี 2554
1. จากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดสระแก้ว (มกราคม 2554)
2. จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจภายในจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม 8 ราย จากที่ส่งแบบ 20 แบบ ดังนี้
ภาคที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2553 คือ เศรษฐกิจโดยรวม , การบริโภค , ภาคการเกษตร , การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว
ภาคที่เท่าเดิม เมื่อเทียบกับปี 2553 คือ ภาคอุตสาหกรรม , การจ้างงาน , การค้าชายแดน
ภาคที่น่าจะแย่ลง เมื่อเทียบกับปี 2553 ไม่มี
3. ผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความเห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดสระแก้วตามลำดับ ดังนี้
3.1 ราคาสินค้าการเกษตร
3.2 ปริมาณสินค้าการเกษตร
3.3 การค้าชายแดน
3.4 การบริการและการท่องเที่ยว
3.5 การลงทุนภาคเอกชน
วิสัยทัศน์ใหม่ของจังหวัดสระแก้ว คือ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอินโดจีน ถิ่นพืชพลังงาน อาหารปลอดภัย
เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว จังหวัดสระแก้วได้มีโครงการพัฒนาโครงข่าย ด้านLogistics เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง คือ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว เป็นกิจกรรมศึกษาความเหมาะสมและออกแบบในการจัดตั้งสถานีขนถ่ายสินค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าอีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศในแถบอินโดจีนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ดังนั้น การมุ่งพัฒนาคนในทุกระดับก็เป็นเป้าหมายสำคัญ ของจังหวัดสระแก้ว