รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า “ โครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทย (Elephant Sanctuary) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง อ.อ.ป.กับมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ช้างให้เกิดความยั่งยืนและทำให้ช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูช้าง เมื่อมีการรับมอบช้างมาดูแล ซึ่งรวมถึงช้างป่วย ช้างพิการ และช้างชรา นอกจากนี้ยังใช้เป็นโครงการต้นแบบของการเลี้ยงและจัดการสวัสดิภาพให้กับช้างและควาญอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์ผืนป่าและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนท้องถิ่นให้อยู่ร่วมกันกับช้างอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทางด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ในการใช้ดำเนินการโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทย (Elephant Sanctuary) เบื้องต้น อ.อ.ป.ได้จัดสรรพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ “สวนป่าคลองตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา” เป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการฯ เนื่องจากเป็นสวนป่าที่มีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถจะพัฒนาไปสู่สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ตลอดจนให้การสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับช้างเพื่อร่วมทำโครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการฯ นี้ ”
นายอำนาจ ขัมภลิขิต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อ.อ.ป. กล่าวว่า “ ปัจจุบัน อ.อ.ป.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลช้างเลี้ยงอย่างเป็นระบบ หากได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้างในการสร้างโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออก ก็จะทำให้ช้างไทยได้รับการดูแลดีขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ทางภาคตะวันออกยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง
ในการดูแลช้าง สำหรับเรื่องการก่อสร้างโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทยที่สวนป่าคลองตะเกรา จังหวัด ฉะเชิงเทรา ขณะนี้ อ.อ.ป. ได้ดำเนินการขออนุญาตเพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในพื้นที่สวนป่า จำนวน 600 ไร่ ตามนโยบายของ ทส.เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อตกลงที่จะได้จัดทำร่วมกัน ต่อไป ”
ด้านนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง กล่าวว่า “ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง เล็งเห็นว่า ในสังคมไทยให้ความสำคัญกับช้างทั้งในภาพที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ และเป็นสัตว์ใหญ่ที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ ดังนั้นเรื่องการจัดหาสถานที่ที่มีความเหมาะให้กับช้างอยู่ มีอาหารให้กับช้างได้กินอย่างเพียงพอ มีสภาพแวดล้อมที่ช้างสามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติให้มากที่สุด และการทำให้ช้างอยู่ร่วมกับคนได้เหมือนดังกับเช่นในอดีต น่าจะเป็นวิธีการอนุรักษ์ช้างเลี้ยงอย่างยั่งยืนให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง ”